เมื่อเดือน ก.ค.สำนักงานกิจการยุติธรรม กระทรวงยุติธรรม เคยเปิดเผยข้อมูลสถานการณ์การใช้ความรุนแรงภายในครอบครัว ทั้งการทำร้ายร่างกาย หรือสุขภาพของคนในครอบครัว หรือบังคับ ข่มเหง ให้กระทำความผิด พบว่า มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น โดยพบว่า สถิติในช่วงเดือน ม.ค. - มี.ค.ปี 2561 มีความรุนแรงในครอบครัวเกิดขึ้นกับเด็กและสตรีสูงถึงร้อยละ 83.6 เฉลี่ยมากถึง 5 คนต่อวัน โดยบุคคลที่พบเจอกับความรุนแรงในครอบครัวได้แก่ คู่สมรส พ่อแม่ พี่น้อง ลูกหรือบุตรบุญธรรม ปู่ย่า ตายาย ญาติ และคนในครอบครัวเช่น หลาน ลูกสะใภ้ ลูกชาย
สำนักงานกิจการยุติธรรมยังแนะนำถึงวิธีการ เมื่อต้องพบเจอกับความรุนแรงว่า ต้องขอความช่วยเหลือจากหน่วยงานรัฐ หรือมูลนิธิที่เกี่ยวข้อง แจ้งความให้ตำรวจเข้าดำเนินการ เพื่อนบ้านหรือผู้เห็นเหตุการณ์ความรุนแรงในครอบครัวต้องแจ้งต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจให้เข้ามาช่วยเหลือเข้าห้ามปรามให้หยุดทำความรุนแรง เมื่อพบว่าเหยื่อความรุนแรงบาดเจ็บต้องพาไปโรงพยาบาล
ทั้งนี้ ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ.2550 มาตรา 4 กำหนดให้ผู้กระทำผิด ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน ปรับไม่เกิน 6,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และอาจมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญาฐานทำร้ายร่างกายอีกด้วย
ขณะที่ ในเวทีเสวนา "จับสัญญาณอันตรายความตายความรุนแรงในครอบครัว 2018" โดยมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เมื่อเดือน ส.ค.พบว่าสถิติข่าวความรุนแรงในครอบครัว จากหน้าหนังสือพิมพ์ 11 ฉบับ ช่วงเดือน ม.ค. - ก.ค.ปี 61 พบว่า เกิดข่าวความรุนแรงในครอบครัวสูงถึง 367 ข่าว เป็นข่าวฆ่ากันตาย 242 ข่าว คิดเป็นร้อยละ 65.9 รองลงมา เป็นข่าวทำร้ายร่างกาย 84 ข่าว คิดเป็นร้อยละ 22.9 และข่าวฆ่าตัวตาย 41 ข่าว คิดเป็นร้อยละ 11.2 และเมื่อเปรียบเทียบข่าวฆ่ากันตายย้อนหลัง 3 ปี จะเห็นว่าปี 61 สถิติสูงสุดกว่าทุกปี โดยปี 2555 มีข่าวร้อยละ 59.1 ปี 2557 มีข่าวร้อยละ 62.5 และ ปี 2559 มีข่าวร้อยละ 48.5 และยังพบด้วยว่าร้อยละ 94.9 ของผู้ที่พบเห็นเหตุความรุนแรงเลือกที่จะนิ่งเฉย ไม่เข้าไป ช่วยเหลือ
ความรุนแรงที่เกิดขึ้น สะท้อนให้เห็นว่า 1. ผู้กระทำความรุนแรงส่วนใหญ่เป็นผู้ชายยังมีวิธีคิดและทัศนคติแบบชายเป็นใหญ่ แสดงออกผ่านพฤติกรรมความหึงหวง บันดาลโทสะ 2.การผลิตซ้ำวาทกรรม "ชายเป็นใหญ่" ทั้งปรากฏอย่างชัดเจนและแฝงเร้น เช่น เรื่องครอบครัวเป็นเรื่องส่วนตัว เป็นเรื่องลิ้นกับฟัน อย่าแกว่งเท้า หาเสี้ยน ส่งผลให้คนในสังคมไม่อยากเข้าไปช่วยเหลือ และไม่กล้าเข้าไปแก้ปัญหา ทำให้ทวีความรุนแรงมากขึ้น
สังคมจึงควรปรับเปลี่ยนทัศนคติเมื่อพบเห็นเหตุการณ์ความรุนแรงในครอบครัว ควรให้ช่วยเหลือ ทั้งการแจ้งปัญหาต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มีอำนาจหน้าที่ หรือการเข้าไปช่วยเหลือด้วยตนเอง