กลายเป็นข่าวดังเมื่อเจ้าหน้าที่อุทยานไทรโยค จ.กาญจนบุรี จับกุมปลัดอำเภอด่านมะขามเตี้ย พร้อมพวก ลักลอบเข้าพื้นที่และพบของกลาง อุ้งตีน "หมีขอ" ไทยพีบีเอสออนไลน์พาไปรู้จักหมีขอ สัตว์ป่าคุ้มครอง ประเภท 2 เหยื่อที่ถูกล่าในครั้งนี้
"หมีขอ" หรือ บินตุรง (Arctictis binturong) สัตว์ตระกูลชะมดและอีเห็นที่ใหญ่ที่สุด ที่มีชื่อเป็นหมีอาจเพราะมีขนดำหยาบยาวคล้ายหมี และด้วยมีหางยาวเป็นพวงคล้ายกระรอกสวยงามจึงทำให้ถูกเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า “หมีกระรอก”

ภาพประกอบ : Chiang Mai Night Safari
ภาพประกอบ : Chiang Mai Night Safari
ตาและหูค่อนข้างเล็กใบหูกลมและเล็กมาก หลังหูมีขนเป็นพู่ยาวออกมา สามารถใช้หางจับเกาะต้นไม้แทนมือได้ดี ทำให้ปีนต้นไม้เก่งและว่ายน้ำได้ ความยาวลำตัวและหัว 61-96.5 เซนติเมตร ความยาวหาง 50-84 เซนติเมตร น้ำหนัก 9-20 กิโลกรัม
พบมากบริเวณภูฐาน, ภาคตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดีย ภาคตะวันตกของพม่า, ไทย, ลาว, กัมพูชา, พรมแดนระหว่าง เวียดนามติดกับลาวและกัมพูชา, มาเลเซีย, เกาะสุมาตรา,เกาะบอร์เนียวในอินโดนีเซีย และเกาะปาลาวันในฟิลิปปินส์

ภาพประกอบ : Chiang Mai Night Safari
ภาพประกอบ : Chiang Mai Night Safari
เป็นสัตว์หากินกลางคืน กลางวันจะหลบนอนในโพรงไม้ซุงออกหากินตามลำพัง ชอบอยู่บนต้นไม้มากกว่า บางครั้งอาจอยู่รวมกันเป็นฝูงเล็กๆ แม่และลูก โตเต็มที่อายุ 2 ปีผสมพันธุ์ได้ตลอดปีตั้งท้องนาน 84-99 วัน ออกลูกครั้งละ 1-3 ตัว อายุเฉลี่ย 18 ปี
ถึงไม่ใช่หมีแต่หมีขอมีสถานะปัจจุบันเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองประเภทที่ 2 ตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2535 ห้ามไม่ให้ผู้ใดล่า ฝ่าฝืนมีโทษจำคุกไม่เกิน 4 ปี หรือ ปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ปัจจุบันประเทศไทยมีสัตว์ป่าที่กฎหมายกำหนดให้เป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง เพื่อป้องกันไม่ให้สัตว์ป่าบางชนิดต้องสูญพันธุ์ แบ่งเป็น สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม 201 ชนิด นก 952 ชนิด สัตว์เลื้อยคลาน 91 ชนิด สัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก 12 ชนิด แมลง 20 ชนิด และสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลัง 12 ชนิด
ขณะที่ สหภาพนานาชาติเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติและทรัพยากรธรรมชาติ (ไอยูซีเอ็น) ระบุสถานะของหมีขอในบัญชีของ ว่า เป็นสิ่งมีชีวิตที่เกือบอยู่ในข่ายใกล้การสูญพันธุ์

ภาพประกอบ : Chiang Mai Night Safari
ภาพประกอบ : Chiang Mai Night Safari
หมีขอป่าไทรโยค
ขณะที่นายพนัชกร โพธิบัณฑิต หัวหน้าอุทยานแห่งชาติไทรโยค กล่าวว่า พื้นที่ป่าอุทยานไทรโยคมีธรรมชาติที่สมบูรณ์ โดยที่ผ่านมาเจ้าหน้าที่ได้มีการลาดตระเวนเชิงคุณภาพเพื่อการจัดการพื้นที่อนุรักษ์ พบร่องรอยสัตว์ป่าสำคัญหลายชนิด เช่น เก้ง กวาง กระทิง และเสือ ถือเป็นพื้นที่ที่มีความสำคัญในการดูแลเรื่องสัตว์ป่า
นายพนัชกร กล่าวว่า เดิมพื้นที่เป็นเหมืองเก่าและมีชุมชนใหญ่อาศัยอยู่ แต่ภายหลังสิ้นสุดสัมปทานเหมืองแร่ ชุมชนทั้งหมดได้ย้ายออกจากพื้นที่ และปัจจุบันป่าฟื้นฟูสภาพแล้ว
หมีขอค่อนข้างเชื่อง ไม่ค่อยตื่นคนเท่าไหร่ เขาจะปีนขึ้นต้นไม้ เป็นสัตว์เคลื่อนไหวช้า ถ้าคนที่มีรสนิยมแปลกๆ อาจมองว่าเขาล่าง่าย
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
จับแก๊งออฟโรด "ล่าหมีขอ" เขตอุทยานไทรโยค
คุมตัวปลัดอำเภอพร้อมพวกสอบ "ล่าหมีขอ"
แท็กที่เกี่ยวข้อง: