ไทยพีบีเอสย้อนเหตุการณ์รื้อและเผาทำลายบ้านของชาวกะเหรี่ยงบ้านบางกลอยบน (ใจแผ่นดิน) ที่อยู่ในเขตป่าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน จ.เพชรบุรี เพื่อผลักดันออกจากพื้นที่ ปฏิบัติการครั้งนั้นเรียกว่า "ยุทธการตะนาวศรี" ของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช จนทำให้ชาวบ้าน 6 คนลุกขึ้นมาต่อสู้ขอความเป็นธรรม โดยหนึ่งในนั้นมี "ปู่คออี้" ร่วมฟ้องด้วย
ขอบคุณภาพจาก : วุฒิ บุญเลิศ
ปี 2553 - 2554 เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน สนธิกำลังกับเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคง ดำเนินการอพยพชาวกะเหรี่ยงและเผาทำลายที่พักอาศัยของชาวกะเหรี่ยงบ้านบางกลอย (ใจแผ่นดิน) อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี เพื่อผลักดันออกจากผืนป่าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ทำให้มีการร้องเรียนต่อสภาทนายความ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติและนายกรัฐมนตรี
ปี 2555 นายโคอิ มีมิ หรือปู่คออี้ ผู้นำกะเหรี่ยงบ้านบางกลอยบนที่อาศัยในผืนป่าแก่งกระจาน กับพวกรวม 6 คน ยื่นฟ้องกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช และนายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร หัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานในขณะนั้น ต่อศาลปกครองกลาง
ระหว่างที่มีการต่อสู่เรื่องคดีความ นายพอละจี รักจงเจริญ หรือบิลลี่ หลายชายของปู่คออี้ และเป็นแกนนำที่ร่วมยืนยันสิทธิ์การอาศัยที่บ้านบางกลอย ได้หายตัวไปอย่างไร้ร่องรอยในเดือน เม.ย.2557
ปี 2558 ปู่คออี้ เข้าแจ้งความที่ สภ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี เมื่อวันที่ 19 ต.ค. ให้ดำเนินคดีกับนายชัยวัฒน์ ในข้อหาวางเพลิงเผาทรัพย์ โดยระบุว่าเดือน พ.ค.2554 เจ้าหน้าที่อุทยานฯ แก่งกระจาน ภายใต้การนำของนายชัยวัฒน์ ได้ร่วมกันจุดไฟเผาที่อยู่อาศัย ยุ้งฉางและทรัพย์สินจนได้รับความเสียหาย และบังคับให้ขึ้นเฮลิคอปเตอร์ออกจากพื้นที่
ปี 2559 ในช่วงเดือน ม.ค.พนักงานสอบสวนส่งเรื่องให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) ดำเนินการตามกฎหมาย เนื่องจากการกระทำของนายชัยวัฒน์กับพวก เป็นความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ
จากนั้นเมื่อวันที่ 8 ก.พ.ศาลปกครองพิพากษายกฟ้องนายชัยวัฒน์ โดยเห็นว่าผู้ฟ้องคดีไม่มีสิทธิทำกินในที่ดิน เพราะไม่ใช่ชุมชนดั้งเดิม และการไล่รื้อของเจ้าหน้าที่อุทยานเป็นไปตาม พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ แต่ให้กรมอุทยานฯ จ่ายค่าชดเชยค่าทรัพย์สินอื่นคนละ 10,000 บาท ส่วนข้อกล่าวหาอื่นให้ยกคำร้องโดยให้เหตุผลว่าเป็นการทำไปตามหน้าที่
นายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร อดีตหัวหน้าอุทยานฯ แก่งกระจาน
ต่อมา ชาวกะเหรี่ยงแก่งกระจานได้ยื่นอุธรณ์ต่อศาลปกครองกลาง ขอกลับเข้าไปอาศัยและทำกินในพื้นที่บ้านบางกลอยบน (ใจแผ่นดิน) ที่อ้างว่าเป็นพื้นที่บรรพบุรุษ
และในเดือน ก.ย. ศาลปกครองกลาง แผนกคดีสิ่งแวดล้อม พิพากษาให้กรมอุทยานฯ ชดใช้ค่าเสียหายให้คนละ 10,000 บาท จากการเผาบ้านชาวกะเหรี่ยง และระบุว่าปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่เป็นไปอย่างถูกต้องตามกฎหมาย พร้อมกับยกคำร้องขอกลับไปอาศัยอยู่ในพื้นที่เดิม
ชาวกะเหรี่ยงแก่งกระจาน ยื่นอุธรณ์ต่อในชั้นศาลปกครองสูงสุด
ปี 2561 ศาลปกครองสูงสุดมีความเห็นว่าเจ้าหน้าที่รัฐปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เผาทำลายทรัพย์สินโดยไม่มีความจำเป็น พิพากษายืนตามศาลปกครองกลางชั้นต้น ให้ชดใช้เงินจำนวน 10,000 บาทให้กับผู้ฟ้องทั้ง 6 คน
ล่าสุด เมื่อวันที่ 12 มิ.ย. ศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งให้กรมอุทยานฯ ชดเชยค่าสินไหมทดแทนเพิ่มเติมให้กับผู้ฟ้อง 6 คน รวมกว่า 300,000 บาท จากการเผาทำลายสิ่งปลูกสร้างและทรัพย์สินของชาวกะเหรี่ยง พร้อมระบุว่าแม้จะใช้อำนาจตามมาตรา 22 แห่ง พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2504 แต่ไม่สามารถใช้วิธีการโดยพลการและไม่ชอบด้วยกฎหมาย และยืนยันไม่ให้ชาวกะเหรี่ยงกลับเข้าไปอยู่ที่ถิ่นฐานเดิม เนื่องจากไม่มีหนังสือรับรองสิทธิจากรัฐ