วันนี้ (29 ส.ค.2561) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สมาพันธ์สภาวิชาชีพแห่งประเทศไทย เช่น แพทยสภา สภาการพยาบาล ทันตแพทยสภา สภาทนายความในพระบรมราชูปถัมภ์ สภาวิศวกร ฯลฯ ร่วมกันแถลงคัดค้าน มาตรา 48 มาตรา 64 มาตรา 65 และมาตรา 66 ของร่างพระราชบัญญัติการอุดมศึกษา ที่อยู่ระหว่างการจัดทำเพื่อประกอบการจัดตั้งกระทรวงอุดมศึกษาวิจัย และนวัตกรรม เพื่อความปลอดภัยต่อชีวิตและสวัสดิภาพของประชาชน
สำหรับมาตรา 64 มาตรา65 และ มาตรา 66 คือห้ามมิให้สภาวิชาชีพมีอำนาจในการรับรอง หรือกำหนดการจัดการเรียนการสอนในสาขาวิชาที่เกี่ยวข้องกับสภาวิชาชีพนั้นของสถาบันอุดมศึกษา และมิให้ออกข้อบังคับหรือหลักเกณฑ์ เพื่อจัดระเบียบการประกอบอาชีพ ทำได้เพียงแต่จัดการประเมินความรู้และทักษะ ในการประกอบวิชาชีพนั้นแก่ผู้สำเร็จการศึกษาเพื่อประกอบวิชาชีพที่สภาวิชาชีพนั้นควบคุมอยู่ ซึ่งหมายถึงการสอบขึ้นทะเบียนเป็นผู้ประกอบวิชาชีพ
ขณะที่ นพ.เกรียง อัศวรุ่งนิรันดร์ รองเลขาธิการแพทยสภา ระบุว่า ร่างกฎหมายทั้ง 3 มาตรา จะส่งผลต่อคุณภาพการศึกษา โดยเฉพาะวิชาชีพทางการแพทย์ อาจก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพและชีวิตของผู้ป่วยได้
การฝึกปฏิบัติของนักศึกษากับผู้ป่วยเป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาในภาคปฏิบัติที่มีความจำเป็นก่อนสอบใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ ดังนั้นจึงกังวลว่าการออกกฎหมายดังกล่าวจะส่งผลให้คุณภาพมาตรฐานของผู้ประกอบวิชาชีพต่ำลง
นอกจากนี้ สมาพันธ์ฯ ยังคัดค้านร่างกฎหมาย มาตรา 48 ที่กำหนดว่าสถาบันอุดมศึกษามีหน้าที่ในการให้บริการทางวิชาการและวิชาชีพ เพราะการให้บริการทางวิชาชีพและให้คำปรึกษาทางวิชาชีพ มิใช่หน้าที่และอำนาจของสถาบันอุดมศึกษา ตามบทบัญญัติตามมาตรา 37 และก่อให้เกิดความขัดแย้งในการบังคับใช้กฎหมาย เมื่อสถาบันกระทำการฝ่าฝืนกฎหมายสภาวิชาชีพ