วันนี้ (20 ส.ค.61) นายวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี (BIOTHAI) และ น.ส.ปรกชล อู๋ทรัพย์ ผู้ประสานงาน เครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช (Thai-PAN) ได้ร่วมแถลงข่าวเปิดเผยและวิเคราะห์เบื้องลึกของมติคณะกรรมการวัตถุอันตรายที่ไม่แบนสารพิษร้ายแรง 3 ชนิด ได้แก่ ไกลโฟเซต พาราควอต คลอร์ไพริฟอส เมื่อวันที่ 23 พ.ค.61
ตั้ง 11 ข้อสงสัย มติไม่แบน 3 สารพิษร้ายแรง
นายวิฑูรย์ ตั้งข้อสังเกตว่า รายงานของอนุกรรมการเฉพาะกิจพิจารณาควบคุมวัตถุอันตราย มีประเด็นที่น่าสงสัย 11 ประเด็น ได้แก่ จงใจเลือกข้อมูลมาสรุปเพื่อสนับสนุนให้มีการใช้สารพิษร้ายแรงต่อไป, ซ่อนข้อมูลผลกระทบแบบเนียนๆ โดยซ่อนไว้ในประโยคอื่นๆ, ไม่นำงานวิจัยที่น่าเชื่อถือมาใช้, บิดเบือนเหตุผลของการเสนอแบนสารเคมี, แปรข้อมูลโดยปิดบังความเสี่ยงและผลกระทบ, ไม่นำงานวิจัยใหม่ๆ มาใช้ประกอบการตัดสินใจ, อ้างข้อสรุปย่อยเพื่อลดทอนปัญหาใหญ่, เลือกใช้ข้อมูลของบรรษัท, อ้างว่าผลกระทบต่างๆ เป็นความเสี่ยงของเกษตรกร, ละเลยทางเลือกที่ดีกว่า และชี้นำการตัดสินใจของกรรมการ
โยนความผิดเกษตรกร ไม่สนรายงาน "พิษเฉียบพลันสูง"
สำหรับข้ออ้างการไม่แบนสารพิษ กรณีพาราควอต ระบุว่า สารดังกล่าวยึดจับในดินได้ดี มีโอกาสแพร่ในสิ่งแวดล้อมน้อย ไม่มีความเชื่อมโยงต่อระบบประสาทและโรคเนื้อเน่า และผู้ที่ได้รับพิษ เพราะจงใจฆ่าตัวตาย (อัตราการเสียชีวิต 52% เมื่อเข้าปาก) และการฉีดพ่นผิดวิธี เพื่อปิดบังความเป็นพิษเฉียบพลัน ที่สูงกว่าคาร์โบฟูรานถึง 43 เท่า นอกจากนี้ไม่แปรผลข้อมูลกรณีผู้ป่วยที่ได้รับสารนี้จากอุบัติเหตุมีอัตราเสียชีวิตสูงถึง 14.53% และผู้ป่วยที่เสียชีวิตเพราะได้รับสารจากการประกอบอาชีพสูงถึง 8.19% อีกทั้งไม่นำรายงานล่าสุดของ EPA ที่ระบุว่า "มีพิษเฉียบพลันสูง แค่จิบเดียวก็ตายได้ และไม่มียาถอนพิษ" มาใส่ในบทสรุป
ขณะที่ น.ส.ปรกชล อู๋ทรัพย์ ผู้ประสานงาน เครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช ระบุว่า มีรายงานเก็บข้อมูลผู้ป่วยในประเทศศรีลังกา 9,300 คน เปรียบเทียบอัตราการเสียชีวิตของสารพาราควอตซึ่งองค์การอนามัยโลก ระบุว่า มีพิษเฉียบพลันปานกลาง แต่เทียบกับสารที่มีพิษเฉียบพลันสูง ปรากฎว่าอัตราการเสียชีวิตจากพาราควอตสูงกว่าประมาณ 42 เท่า
สำหรับประเทศไทย เมื่อดูอัตราการเสียชีวิตในประเทศในรายงานจากศูนย์พิษรามาธิบดี 2553-2559 พบสถิติการเสียชีวิตจากสารกำจัดศัตรูพืชมีอัตราการเสียชีวิตโดยรวมประมาณร้อยละ 8.6 ขณะที่เฉพาะพาราควอตแล้วสูงประมาณร้อยละ 46 ของผู้ป่วย
ในรายงานสรุปของผู้บริหารไม่มีการกล่าวถึงอัตราการเสียชีวิตของการได้รับทางอุบัติเหตุและการประกอบอาชีพ แต่กลับหยิบยกมาเฉพาะการรับพาราควอตทางปาก ร้อยละ 51.90 และละเลยผู้ที่ได้รับจากการสัมผัสทางผิวหนัง ซึ่งมีอัตราการเสียชีวิตอยู่ที่ร้อยละ 10 และการที่มีอัตราการเสียชีวิตจากการได้รับทางปากชี้ชัดว่ามีพิษสูงต่อมนุษย์
นอกจากนั้นยังกล่าวถึงความเสี่ยงของเกษตรกรจากการใช้มากเกินไป เนื่องจากใช้หัวพ่นไม่ถูกต้อง แต่ไม่กล่าวถึงความเสี่ยงที่จัดการไม่ได้จากการใช้เครื่องฉีดพ่นสะพายหลัง ซึ่งจากการประเมินของสหภาพยุโรปพบว่า เกษตรกรที่สวมอุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคลและใช้เครื่องฉีดพ่นสะพายหลังจะมีการรับสัมผัสสารพาราควอตเกินกว่าค่ามาตรฐานประมาณ 60 เท่า แต่ถ้าหากไม่มีการใส่ชุดป้องกันจะสูงกว่า 100 เท่า โดยในประเทศไทยมีเกษตรกรส่วนน้อยที่สวมชุดอย่างถูกต้อง แต่กว่าร้อยละ 80 ของเกษตรกรมีการใช้เครื่องฉีดพ่นแบบสะพายหลัง
ทั้งนี้ มีงานวิจัยจำนวนมากรับรองว่าพาราควอตสามารถผ่านเข้าสู่สมองได้ผ่านตัวนำส่งต่างๆ โดยวารสารด้านประสาทวิทยาโดยเฉพาะ ยืนยันว่าการสัมผัสพาราควอตมีความเสี่ยงต่อโรคพาร์กินสัน แต่ไม่มีข้อความนี้อยู่ในบทสรุปของผู้บริหาร ซึ่งในประเทศไทยข้อมูลโดยสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ ได้ทำให้เห็นถึงกลไกที่สามารถเข้าสู่สมองได้และก่อให้เกิดการเคลื่อนไหวผิดปกติ คล้ายกับการเป็นพาร์กินสัน ตั้งแต่ปี 2004
เราถือว่าการเพิกเฉยเรื่องนี้เป็นการไม่คุ้มครองผู้บริโภคอย่างมาก เนื่องจากมีรายงานที่ชี้ว่าประชากรอย่างชาวเอเชีย มีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคพาร์กินสันมากกว่าคนฝั่งยุโรปถึง 11 เท่า ขณะที่ประเทศฝั่งยุโรปได้ยกเลิกพาราควอตเพราะบริษัทไม่ยื่นประเมินความเสี่ยงเกี่ยวกับโรคพาร์กินสัน ซึ่งเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้ศาลของสหภาพยุโรปยกเลิกหรือไม่ต่อทะเบียนพาราควอตตั้งแต่ปี 2007
"คลอร์ไพริฟอส" กระทบพัฒนาการทางสมองเด็ก
ส่วนคลอร์ไพริฟอส ระบุว่า ปัญหาการตกค้างในดินเกิดจากเกษตรกรที่ใช้ไม่ถูกวิธี ซึ่งสารดังกล่าวมีพิษปานกลาง ไม่ส่งผลกระทบต่อระบบสืบพันธุ์และประสาท แต่กลับพบว่ามีความสัมพันธ์กับพัฒนาการทางสมองของเด็ก
ไกลโฟเซตนั้น ยอมรับว่ามีผลการตกค้างในมนุษย์ แต่มีตัวอย่างที่ศึกษาไม่มากพอ และยังไม่สามารถสรุปข้อมูลการเกิดมะเร็งได้ คณะกรรมการฯ จึงสรุปว่าสารทั้ง 3 ชนิด ไม่มีความเสี่ยงจากการบริโภคและไม่มีสารอื่นทดแทนที่ดีกว่า
ขณะที่ผู้ประสานงานเครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช ระบุว่า การอ้างว่าคลอร์ไพริฟอสไม่ส่งผลกระทบต่อการพัฒนาระบบประสาตอย่างเฉพาะเจาะจงในรายงานของอนุกรรมการเฉพาะกิจฯ นั้น ถือว่าขัดแย้งกับรายงานของเด็กที่ได้สัมผัสคลอร์ไพริฟอสตั้งแต่อยู่ในท้องแม่ โดยมีการติดตามทั้งพัฒนาการด้านสมอง การเรียนรู้ ความจำ และมีการวัดขนาดสมองของเด็กเปรียบเทียบ 2 กลุ่ม ระหว่างกลุ่มที่ได้รับคลอร์ไพริฟอส และกลุ่มที่ไม่ได้รับ ซึ่งมีความแตกต่างกันอย่างชัดเจน ซึ่งเป็นรายงานเดียวกันกับที่สหรัฐฯ จำกัดการใช้คลอร์ไพริฟอสและมีการเสนอยกเลิกการใช้ไปเมื่อก่อนหน้านี้
ทั้งนี้ยังมีการอ้างว่า คลอร์ไพริฟอสไม่ก่อให้เกิดความเสี่ยงของการเกิดมะเร็งในมนุษย์แต่งานวิจัยสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ที่พบว่า คลอร์ไพริฟอส เพิ่มการเจริญเตอบโตของเซลมะเร็งลำไส้ ชนิด H29 และจากการติดตามการให้ความร่วมมือเกษตรกร จำนวน 56,000 คน ในสหรัฐอเมริกา ได้ศึกษาความสัมพันธ์ของการเกิดมะเร็งจากสารเคมีหลายชนิด ซึ่งคลอร์ไพริฟอสเองเพิ่มการเกิดมะเร็งทวารหนักถึง 2.7 เท่า
มีการอ้างว่าในต่างประเทศยกเลิกการใช้ในบ้านเรือน เนื่องจากการพัฒนาการใช้สารเคมีในรูปแบบเหยื่อ จึงยกเลิกการฉีดพ่นไป แต่เมื่อตรวจสอบข้อมูลกลับพบว่า ประเทศต่างๆ ยกเลิกการใช้สารคลอร์ไพริฟอส เนื่องจากเหตุผลทางด้านสุขภาพเป็นสำคัญ โดยเฉพาะเรื่องความเสี่ยงต่อเด็กซึ่งจำเป็นต้องมีการปกป้อง อันนี้ชัดเจนว่าเป็นการลดทอนเรื่องของผลกระทบ
น.ส.ปรกชล กล่าวอีกว่า มีการกล่าวหาว่าเกษตรกรไม่ปฏิบัติตาม GAP จึงทำให้เกิดปัญหาสารพิษตกค้าง แต่หากดูการประเมินของสหรัฐอเมริกาศาลได้ระงับการใช้คลอร์ไพริฟอส ใน 60 วัน ถ้าไปดูการประเมินของ EPA จะพบว่าเป็นการประเมินคลอร์ไพริฟอส โดยอเมริกามีการควบคุมการใช้อย่างเข้มงวดมาก แต่ก็ยังพบว่าการตกค้างของคลอร์ไพริฟอสในน้ำดื่ม การบริโภคพืชอาหาร ล้วนเกินค่ามาตรฐานความปลอดภัย และยังมีรายงานการประเมินความเสี่ยง ที่ชี้ให้เห็นว่า คนงานที่เป็นคนผสมคลอร์ไพริฟอส หรือฉีดพ่นโดยตรงมีความเสี่ยงต่อการรับสัมผัสคลอร์ไพริฟอส
การอ้างว่าความเสี่ยงเนื่องจากการบริโภคอาหารไม่ได้ให้ความอันตราย ถือว่าเป็นการประเมินที่เราออาจจะต้องตั้งคำถามอยู่บนพื้นฐานความเป็นจริงหรือไม่ เพราะขนาดสหรัฐฯ ยังมีการบังคับใช้ที่เข้มข้นกว่าเรา และประเมินออกมาว่ามีความเสี่ยงสูงเกินไป ประเทศจีนที่ยกเลิกการใช้คลอร์ไพริฟอส ในพืชผักก็เนื่องมาจากความปลอดภัยทางอาหาร
เมื่อมาดูการศึกษาผลกระทบการตกค้างในประเทศไทย กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม ก็พบว่า มีคลอร์ไพริฟอสตกค้างในผักและผลไม้จำนวนมากเป็นอันดับต้นๆ ของยาฆ่าแมลงที่พบ โดยเฉพาะในใบบัวบก กะเพรา และตำลึง โดยที่ จ.เชียงรายและ จ.น่าน พบว่าประชากรเกินครึ่งหนึ่งมีค่าสะสมเคมีในร่างกายเกินค่าระดับอ้างอิง จึงเกิดเป็คำถามว่าคณะอนุกรรมการประเมินความเสี่ยงได้พิจารณารายงานเหล่านี้หรือไม่
เลี่ยงใช้งานวิจัยผลกระทบ "โรคเนื้อเน่า"
นายวิฑูรย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า กรรมการชุดนี้ได้ประสานงานกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อให้เก็บตัวอย่างการตกค้างในสิ่งแวดล้อมใหม่ ซึ่งเป็นไม่ใช่ช่วงเวลาเดียวกับที่มหาวิทยาลัยนเรศวร ตรวจพบการตกค้างระดับสูง กรณีพาราควอตในพื้นที่ จ.หนองบัวลำพู และไม่นำผลการวิจัยของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่พบการตกค้างในหอย ปู ปลา และกบ เกินมาตรฐานในพื้นที่ จ.น่าน มาใช้ โดยพยายามขัดขวางและลดทอนการค้นพบเรื่องสัมพันธ์กับโรคเนื้อเน่าของผู้อำนวยการสำนักโรคจากการประกอบอาชีพมาใช้ในรายงาน อ้างว่ายังไม่มีการตีพิมพ์ แต่กลับนำข้อมูลซึ่งไม่มีการตีพิมพ์ของหน่วยงานที่อาจมีผลประโยชน์ทับซ้อนมาใช้อ้างอิงในรายงาน
ผมไม่ได้ฝากความหวังกับผู้ที่เกี่ยวข้องในการบริหาร แต่เชื่อในเสียงของประชาชนและผลกระทบกับเกษตรกร คณะกรรมการวัตถุอันตรายหมดความชอบธรรมในการเดินหน้าผลักดันสารเคมี 3 ชนิดนี้ การตัดสินใจไม่ปกป้องผลประโยชน์ของประชาชน รวมถึงการลงมติวันที่ 23 พ.ค. มีกรรมการบางคนที่มีผลประโยชน์ทับซ้อนอยู่ด้วย
ทั้งนี้ นายวิฑูรย์ ระบุว่า เรียกร้องให้คณะกรรมการทบทวนมติการประชุม โดยภายใน 2 สัปดาห์นี้ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค มูลนิธิชีววิถี และเครือข่ายสนับสนุนการแบนสารพิษร้ายแรงกว่า 700 องค์กร จะร่วมกันฟ้องศาลปกครองในกรณีที่มีการลงมติที่อาจขัดต่อกฎหมาย ให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเกี่ยวข้องกับมติดังกล่าว และคณะกรรมการวัตถุอันตรายไม่คุ้มครองปกป้องสุขภาพและผลประโยชน์ของประชาชน