ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

"ดีแทค-เอไอเอส" ชิงประมูลคลื่น 1800 MHz

เศรษฐกิจ
19 ส.ค. 61
10:50
886
Logo Thai PBS
"ดีแทค-เอไอเอส" ชิงประมูลคลื่น 1800 MHz
"เอไอเอส-ดีแทค" ร่วมประมูล 4G คลื่น 1800 เมกะเฮิรตซ์ 9 ใบอนุญาต ก่อนคลื่นดีแทคหมดสัมปทาน ก.ย.นี้ ด้านทรูมูฟฯ ของไม่ร่วม ย้ำคลื่นเดิมมีเพียงพอ ส่วนคลื่น 900 ยกเลิกประมูลเมื่อวานนี้ (18 ส.ค.) เหตุไม่มีบริษัทใดสนใจ

วันนี้ (19 ส.ค.2561) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ผู้บริหารบริษัท ดีแทค ไตรเน็ต จำกัด (DTN) และบริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด (AWN) เดินทางมาร่วมประมูล คลื่นความถี่ 1800 เมกะเฮิรตซ์ โดยการเริ่มประมูลวันนี้ เริ่มต้นตั้งแต่เมื่อเวลา 10.00 น. ก่อนเริ่มการประมูล ทาง สำนักงาน กสทช. ได้จับสลากเลือกห้องที่ผู้ร่วมประมูลทั้ง 2 ราย คือ เอไอเอส กับ ดีแทค

สำหรับหลักเกณฑ์การประมูลครั้งนี้แบ่งใบอนุญาตออกเป็น 9 ใบ ใบละ 5 เมกะเฮิรตซ์ รวมทั้งหมด 45 เมกะเฮิรตซ์ แม้มีใบอนุญาตจำนวน 9 ใบ แต่ผู้เข้าร่วมประมูลแต่ละบริษัท มีสิทธิ์ประมูลสูงสุดได้ 4 ใบอนุญาต (20 เมกะเฮิร์ซ) ราคาเริ่มต้นขั่นต่ำอยู่ที่ ใบละ 12,486 ล้านบาท และกำหนดเพิ่มขึ้นครั้งละ 25 ล้านบาท

นายก่อกิจ ด่านชัยวิจิตร รองเลขาธิการ กสทช. เปิดเผยว่า หลังจากได้ผู้ชนะประมูลวันนี้ ทาง กสทช.จะประชุมกันเพื่อรับรองผลการประมูลภายใน 7 วัน ซึ่งคาดว่า จะเป็นภายในวันที่ 22 ส.ค.2561 โดยผู้ชนะประมูลจะต้องชำระค่าชนะประมูลงวดแรก ภายใน 90 วัน

นายก่อกิจ กล่าวว่า การจัดประมูลคลื่น 900 เมกะเฮิร์ตซ ตามกำหนดเดิมเมื่อวานนี้ (18 ส.ค.) ต้องยกเลิกการประมูล เหตุไม่มีบริษัทใดสนใจ เนื่องจากยังไม่มีความชัดเจนในการกันคลื่น 900 เมกะเฮิรตซ์ ไปใชัสนับสนุนภารกิจรถไฟฟ้าความเร็วสูง 5 เมกะเฮิรตซ์ เมื่อไม่มีเอกชนรายใดเข้าร่วม จึงต้องยกเลิกการประมูล ซึ่งการพิจารณาคลื่น 900 เมกะเฮิรตซ์

หลังจากนี้จะเสนอคณะกรรมการพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) ที่มีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานเพื่อให้พิจารณาแนวทางว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไปกับคลื่น 900 เมกะเฮิรตซ์ เพื่อเป็นแนวทางให้ กสทช.ดำเนินการต่อไป

 

 

นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช. กล่าวว่า แม้ในอดีตที่ผ่านมาการใช้งานเทคโนโลยีไม่ว่าจะเป็น 3G ซึ่งประเทศไทยล่าช้าในการใช้งานกว่าประเทศอื่น 12 ปี ส่วนการใช้งานเทคโนโลยี 4G ประเทศไทยล่าช้ากว่าประเทศอื่น 7 ปี วันนี้การใช้งาน 3G และ 4G ประเทศไทยตามทันประเทศอื่นๆ แล้ว โดยมีข้อมูลที่สำคัญคือขณะนี้มีผู้ใช้งานในระบบ 3G และ 4G รวมกันมากกว่า 120 ล้านเลขหมาย โดยมีการใช้งานบริการข้อมูล (ดาต้า) โดยรวมเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ไตรมาสที่ 4 ของปี 2560 ที่มีปริมาณการใช้งานอยู่ ที่ 1,033 เพตะไบต์เพิ่มขึ้นเป็น 1,208 เพตะไบต์ ในไตรมาสที่ 1 ของปี 2561 หรือ เพิ่มขึ้นร้อยละ 17 และจากข้อมูลล่าสุด ในไตรมาสที่ 2 ของปี 2561 ปริมาณการ ใช้งานดาต้าเพิ่มขึ้นเป็น 1,583 เพตะไบต์ ซึ่งสูงกว่าไตรมาสที่ 4 ของปี 2560 ถึงร้อยละ 53

นอกจากนี้ สิ่งที่ต้องดำเนินการคือจะทำอย่างไรให้ประเทศไทยมีบริการ 5G ในปี 2563 เพื่อให้ทันกับประเทศที่พัฒนาแล้ว สำนักงาน กสทช. ได้วิเคราะห์ตัวเลขโดยอ้างอิงจาก Model ในการศึกษาของ IHS, สหประชาชาติ (UN) และ มหาวิทยาลัยแห่งรัฐแคลิฟอร์เนีย เบิร์กเล่ย์ สหรัฐอเมริกา พบว่า หากประเทศไทยไม่มีการใช้งาน 5G จะสูญเสียโอกาส ในการสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจตั้งแต่ปี 2563 เป็นหลักแสนล้านบาทขึ้นไป และอาจจะพุ่งไปจนถึง 2.3 ล้านล้านบาทปี 2573 ซึ่งเป็นปีที่คาดว่ามีการใช้งาน 5G แพร่หลายมากที่สุด คิดเป็นประมาณร้อยละ 80 ของกรอบวงเงินงบประมาณ ประจำปีของประเทศไทยในปี 2561 ซึ่งมีกรอบวงเงินงบประมาณ ประมาณ 3 ล้านล้านบาท

 

"ดีแทค-เอไอเอส" คว้าคลื่น 1800 MHz คนละใบ 

พล.อ.สุกิจ ขมะสุนทร ประธานกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กล่าวว่า การประมูลคลื่นความถี่ย่าน 1800 MHz ในวันนี้ (19 ส.ค.) มีผู้ประกอบการ 2 รายเข้าร่วม ได้แก่ บริษัท ดีแทค ไตรเน็ต จำกัด (DTN) และบริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด (AWN) ผลการประมูลปรากฎว่า ทั้ง 2 รายได้ใบอนุญาตไปคนละ 1 ใบ จำนวนคนละ 5 MHz

สำหรับการประมูลแบ่งเป็น 9 ชุด ชุดละ 5 เมกะเฮิรตซ์ มีผู้เสนอทั้ง 2 ราคา ราคารวมอยู่ที่ 25,022 ล้านบาท โดยบริษัทเอไอเอส เสนอราคารวม 12,511 ล้านบาท ชนะประมูลคลื่นความถี่ในชุดที่ 1 ช่วงความถี่ 1,740-1,745 เมกะเฮิรตซ์ คู่กับช่วงความถี่ 1,835-1,840 เมกะเฮิรตซ์ ส่วนดีแทคเสนอราคารวมที่ 12,511 ล้านบาท คลื่นชุด 2 ช่วงความถี่ 1,745-1,750 เมกะเฮิรตซ์ คู่กับช่วงความถี่ 1,840-1,845 เมกะเฮิรตซ์

อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาต่อรอบการเคาะราคาประมูลเกิดขึ้นทั้งหมด 4 ครั้ง รอบแรกทั้ง 2 บริษัท เคาะในระบบประมูล เพื่อยืนยันในราคาตั้งต้นที่ กสทช.กำหนดไว้ที่ 12,461 ล้านบาท จากนั้น รอบที่ 2 ทั้ง 2 บริษัท เคาะราคาเพิ่ม 25 ล้านบาท ตามเกณฑ์ที่กสทช.กำหนด ส่วนรอบที่ 3 ทั้งสองบริษัท ไม่เสนอเพิ่ม (ยืนยันราคารอบ 2) และรอบที่ 4 ทั้ง 2 รายยังไม่เสนอราคาเพิ่มอีก (คงราคารอบ 2 ) ทำให้การประมูลสิ้นสุดแล้ว ทั้งนี้ การประมูลเริ่มต้นตั้งแต่เวลา 10.00 น. และสิ้นสุดเวลา 11.15 น. รวมเวลาประมูลทั้งสิ้น 1.15 ชั่วโมง

ทั้งนี้ กสทช.จะประชุมรับรองผลการประมูลภายใน 7 วัน คาดภายในวันที่ 22 ส.ค.นี้ โดยต้องชำระงวดแรกภายใน 90 วัน หลังจากได้รับหนังสือแจ้งเป็นผู้ชนะการประมูล

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง