ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

5 เขื่อนเร่งพร่องน้ำรับพายุโซนร้อน "เบบินคา"

ภัยพิบัติ
15 ส.ค. 61
11:46
2,573
Logo Thai PBS
 5 เขื่อนเร่งพร่องน้ำรับพายุโซนร้อน "เบบินคา"
สทนช. เฝ้าระวังอิทธิพลจากพายุโซนร้อน "เบบินคา" และร่องมรสุมที่จะทำให้เกิดฝนตกหนักในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะนครนายก เตรียมปรับแผนระบายน้ำในเขื่อนขุนด่านปราการชลใหม่รองรับน้ำฝนจากเทือกเขาที่ตกถึง 100 มม.ช่วงสัปดาห์นี้

วันนี้ (15 ส.ค.2561) นายสมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) กล่าวว่า ศูนย์เฉพาะกิจชั่วคราวในภาวะวิกฤต ได้ติดตามสภาพอากาศระหว่างวันที่ 14-19 ส.ค.นี้จะเกิดพายุดีเปรสชัน บริเวณชายฝั่งของประเทศจีนตอนใต้แล้ว ทวีความรุนแรงขึ้นเป็นพายุโซนร้อนเบบินคา คาดว่าจะทำให้ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคเหนือยังคงมีฝนตกชุกหนาแน่น และมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง

โดยเฉพาะระหว่างวันที่ 16-18 ส.ค.นี้ จะได้รับผลกระทบมากที่สุด ซึ่งขึ้นอยู่กับการก่อตัวของพายุลูกใหม่ด้วย ประกอบด้วย ภาคเหนือตอนบน จ.เชียงราย เชียงใหม่ พะเยา น่าน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือบริเวณชายขอบของแม่น้ำโขงทั้งหมด ซึ่งต้องเฝ้าระวังลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้พาดผ่านภาคใต้ แล้วเคลื่อนตัวไปภาคตะวันตก จ.ตาก กาญจนบุรี และเพชรบุรี ภาคตะวันออก จ.ตราด จันทบุรี และบริเวณชายขอบของจ.นครราชสีมา จ.นครนายก ที่มีความเสี่ยงฝนจะตกหนักบริเวณนี้

 

จึงให้เร่งระบายและพร่องน้ำออกจากเขื่อนขนาดใหญ่และขนาดกลาง รองรับปริมาณน้ำฝนใหม่ที่จะเข้ามา ทั้งเขื่อนแก่งกระจาน จ.เพชรบุรี เขื่อนศรีนครินทร์ และเขื่อนวชิราลงกรณ จ.กาญจนบุรี เขื่อนรัชชประภา จ.สุราษฎร์ธานี และเขื่อนขุนด่านปราการชล จ.นครนายก

โดยเฉพาะนครนายก ได้เฝ้าระวังเพิ่มขึ้นช่วงสัปดาห์นี้เป็นพิเศษ หลังจากวันที่ 13 ส.ค.นี้มีฝนตกหนักบนเขาใหญ่สูงถึง 100 มิลลิเมตร จนเกิดน้ำป่าไหลหลากเข้าท่วมน้ำตก ต้องเฝ้าระวังและวิเคราะห์ความจำเป็นในการระบายและพร่องน้ำออกจากเขื่อนขุนด่านปราการชล ที่มีศักยภาพรับน้ำได้ 225 ล้านลบ.ม.แต่เก็บกักน้ำได้จริง 224 ล้านลบ.ม.ล่าสุดน้้ำในเขื่อน 188 ล้านลบ.ม. หรือ 83% ของความจุอ่าง

โดยวันนี้มีปริมาณน้ำฝนไหลเข้าอ่างถึง 12 ล้านลูกบาศก์เมตร ขณะที่มีการระบายน้ำออก 3 ล้านต่อวัน ลบ.ม.ต่อวัน ฝนมีแนวโน้มตกหนักเพิ่มขึ้น จึงเร่งวิเคราะห์แนวทางการปรับแผนระบายน้ำเพิ่มเติมเพื่อรองรับน้ำฝนใหม่ด้วย เนื่องจากช่วง 1-2 วันนี้หากฝนยังตกในระดับ 100 มิลลิเมตร อาจทำให้น้ำเกินกว่าระดับน้ำเกณฑ์ควบคุม แต่จำเป็นต้องประเมินปริมาณน้ำที่อาจกระทบท้ายเขื่อนด้วย

 

เขื่อนวชิราลงกรณ ระบายน้ำ 43 ล้านลบ.ม.ถึงก.ย.นี้

เลขาธิการ สทนช. กล่าวว่า ขณะที่ลุ่มน้ำเพชรบุรี ปริมาณน้ำ 726 ล้าน ลบ.ม. จากเมื่อวาน 725 ล้านลบ.ม. คิดเป็น 102% ปริมาณน้ำไหลเข้าวันละ 14.80 ล้าน ลบ.ม. (เมื่อวาน 12.53) ปริมาณน้ำระบายออกวันละ 13.80 ล้าน ลบ.ม. น้ำล้นทางระบายน้ำ (Spillway) สูง 36 ซม. สูงกว่าเมื่อวาน 1 ซม. แนวโน้มปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างเพิ่มขึ้นเล็กน้อย และจากการคาดการณ์สภาพภูมิอากาศ อาจมีฝนตกมากขึ้นส่งผลให้น้ำในเขื่อนเพิ่มขึ้นในสัปดาห์นี้ 

ส่วนเขื่อนเพชรบุรี มีน้ำไหลเข้าจากการระบายจากเขื่อนแก่งกระจานอยู่ที่ 86 ลบ.ม.ต่อวินาที รวมถึงจากอ่างเก็บน้ำห้วยผาก และเขื่อนห้วยแม่ประจันต์ ทำให้มีการระบายน้ำรวม 150 ลบ.ม.ต่อวินาที ส่งผลให้ระดับน้ำในแม่น้ำเพชรบุรี มีแนวโน้มลดลงตามการระบายน้ำจากเขื่อนแก่งกระจานและเขื่อนเพชรบุรี

 

 

ขณะที่เขื่อนวชิราลงกรณ จ.กาญจนบุรี  มีปริมาณน้ำ 7,669 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 87% ปริมาณน้ำไหลเข้าวันละ 100 ล้าน ลบ.ม. เพิ่มจากเมื่อวานนี้ที่มีน้ำไหลเข้า 71.93 ล้านลบ.ม. มีปริมาณน้ำไหลออกวันละ 42.05 ล้าน ลบ.ม. ทั้งนี้เขื่อนมีแผน การบริหารจัดการน้ำ แผนการระบายน้ำอยู่ที่วันละ 43 ล้าน ลบ.ม. ตลอดเดือนส.ค.-ก.ย.นี้ และ การแจ้งเตือนและการช่วยเหลือ มีการแจ้งให้พื้นที่ท้ายเขื่อนตามลำน้ำแควน้อยให้ทราบถึงแผนการระบายน้ำของอ่างเก็บน้ำ

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง