วันนี้ (10 ส.ค.61) ศูนย์เฉพาะกิจชั่วคราวในภาวะวิกฤต รายงานว่า สถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำที่ต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษ อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ที่มีระดับเกินเกณฑ์ควบคุม (Upper Rule Curve) และปริมาณน้ำเกินร้อยละ 80 ของความจุ มีจำนวน 4 แห่ง ดังนี้
เขื่อนแก่งกระจาน จ.เพชรบุรี สภาพน้ำในอ่างเก็บน้ำ เวลา 06.00 น. ปริมาณน้ำ 734 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 103% ปริมาณน้ำไหลเข้า 15.18 ล้าน ลบ.ม.ต่อวัน กรมชลประทานได้ติดตั้งกาลักน้ำ 15 ชุด เพื่อช่วยเร่งระบายน้ำออกจากอ่างฯ ปริมาณน้ำระบายออกรวม 196.27 ลบ.ม.ต่อวินาที น้ำล้นทางระบายน้ำ (Spillway) สูง 54 ซม. (เมื่อวาน 60 ซม.) แนวโน้มปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างเริ่มทรงตัว และจากการคาดการณ์สภาพภูมิอากาศ อาจมีฝนตกมากขึ้นส่งผลให้น้ำในเขื่อนเพิ่มขึ้นในสัปดาห์หน้า ยังต้องเฝ้าระวังสถานการณ์ต่อไป
ส่วนสภาพน้ำในพื้นที่ท้ายน้ำยังอยู่ในเกณฑ์เฝ้าระวัง ระดับน้ำท้ายเขื่อน ที่สถานี B.3A อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี เวลา 05.00 น. ระดับน้ำ 3.58 ม. ระดับตลิ่ง 4.40 ม. ต่ำกว่าระดับตลิ่ง 0.82 ม. (เมื่อวาน 0.76 ม.) ปริมาณน้ำไหลผ่าน 176.10 ลบ.ม.ต่อวินาที ปริมาณน้ำที่ไหลผ่านทางระบายน้ำล้นมีแนวโน้มลดลง ทำให้พื้นที่ริมสองฝั่งลำน้ำในบริเวณ อ.แก่งกระจาน อ.ท่ายาง อ.บ้านลาด อ.เมือง และ อ.บ้านแหลม ที่ได้รับผลกระทบน้ำท่วมมีแนวโน้มทรงตัว
การบริหารจัดการน้ำ มีการพร่องน้ำในแม่น้ำเพชรบุรีล่วงหน้าและตัดยอดน้ำผ่านระบบชลประทาน รวมถึงการพร่องน้ำจากอ่างเก็บน้ำโดยกาลักน้ำ เครื่องสูบน้ำ ทำให้ระดับน้ำที่ อ.เมืองเพชรบุรี (สถานี B.15) มีระดับลดลง ต่ำกว่าตลิ่ง 0.69 ม. (เมื่อวาน 0.55 ม.) แต่ยังต้องเฝ้าระวัง ทั้งนี้ได้ติดตั้งเครื่องสูบน้ำในจุดเสี่ยงที่อาจจะมีน้ำเอ่อเข้าท่วมพื้นที่และชุมชน 31 เครื่อง (สำรอง 5 เครื่อง) ติดตั้งเครื่องผลักดันน้ำเพื่อเร่งระบายน้ำในจุดที่มีการระบายน้ำได้ช้า 38 เครื่อง (สำรอง 8 เครื่อง) เตรียมพร้อมยานพาหนะและเครื่องจักรกล เช่น รถขุดตัก 20 คัน ประจำในพื้นที่เพื่อขุดเปิดทางน้ำ การแจ้งเตือนและการช่วยเหลือ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติได้ออกประกาศฉบับที่ 2/2561 (6 ส.ค.61) เรื่องสถานการณ์แม่น้ำเพชรบุรี