ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

นายกฯ ลงตรวจแผนจัดการน้ำ คาดท่วม "เมืองเพชร" 12 ส.ค.นี้

ภัยพิบัติ
8 ส.ค. 61
12:13
759
Logo Thai PBS
นายกฯ ลงตรวจแผนจัดการน้ำ คาดท่วม "เมืองเพชร" 12 ส.ค.นี้
นายกรัฐมนตรี ลงพื้นที่ตรวจการบริหารจัดการน้ำ จ.เพชรบุรี ขอให้ประชาชนบริเวณท้ายน้ำเตรียมอพยพและยกสิ่งของขึ้นที่สูง ย้ำรัฐบาลพยายามจะตัดยอดน้ำและทำทางระบายน้ำเพิ่มเติม เพื่อให้กระทบกับประชาชนน้อยที่สุด คาดน้ำไหลถึงตัวเมืองวันที่ 12 ส.ค.นี้ ท่วมสูง 30-50 ซม.

วันนี้ (8 ส.ค.61) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี พร้อมด้วยนายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และนายเลิศวิโรจน์ โกวัฒนะ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อตรวจการบริหารจัดการน้ำพื้นที่ จ.เพชรบุรี โดยมี นายทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน และนายเฉลิมเกียรติ คงวิเชียรวัฒน์ รองอธิบดีกรมชลประทาน ให้การต้อนรับและบรรยายสรุปสถานการณ์น้ำปัจจุบัน ณ โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาเพชรบุรี (เขื่อนเพชร) อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี

นายทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยถึงสถานการณ์น้ำในเขื่อนแก่งกระจานล่าสุด (8 ส.ค. 61) ว่า ปริมาณน้ำในเขื่อนแก่งกระจานขณะนี้อยู่ที่ 730 ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 103 ของความจุอ่างฯ ขณะนี้ยังคงมีน้ำไหลล้นข้ามทางระบายน้ำล้น (Spillway) แต่ยังไม่ส่งผลกระทบต่อพื้นที่ด้านท้ายน้ำ กรมชลประทานได้ติดตั้งกาลักน้ำ 15 ชุด เพื่อช่วยเร่งระบายน้ำออกจากอ่างฯ ปัจจุบันมีน้ำล้นออกทางระบายน้ำล้นสูง 45 ซม. ทำให้มีปริมาณน้ำไหลลงด้านท้ายเขื่อนแก่งกระจาน รวมประมาณ 15.30 ล้าน ลบ.ม.ต่อวัน ปริมาณน้ำดังกล่าวจะไหลผ่าน อ.แก่งกระจาน และ อ.ท่ายาง จนถึงเขื่อนเพชร ซึ่งยังมีระดับน้ำต่ำกว่าตลิ่งเฉลี่ย 1-2 เมตร

 

คาดน้ำไหลเข้าเมืองเพชรบุรี 12 ส.ค. ท่วมสูง 30-50 ซม.

กรมชลประทาน คาดการณ์ว่าในวันที่ 10 ส.ค.61 ระดับน้ำที่ล้นทางระบายน้ำล้นจะสูงสุดประมาณ 65 ซม. อัตราการไหลประมาณ 106 ลบ.ม.ต่อวินาที เมื่อรวมกับปริมาณน้ำที่ระบายผ่านอาคารชลประทาน จะทำให้มีน้ำไหลผ่านท้ายเขื่อนแก่งกระจานรวม 224 ลบ.ม.ต่อวินาที ซึ่งปริมาณน้ำดังกล่าวยังไม่เกินความจุของแม่น้ำเพชรบุรีจะรับได้ แต่อาจจะมีผลกระทบต่อพื้นที่ลุ่มต่ำริมตลิ่งบางแห่ง ที่จะมีระดับน้ำท่วมสูงประมาณ 10-20 เซนติเมตร และคาดว่าในวันที่ 11 ส.ค.61 จะมีปริมาณน้ำสูงสุดที่ไหลมารวมกันบริเวณหน้าเขื่อนเพชร ในเกณฑ์ 230-250 ลบ.ม.ต่อวินาที กรมชลประทานจะทำการบริหารจัดการน้ำโดยการหน่วงน้ำหน้าเขื่อน และตัดน้ำเข้าระบบชลประทานฝั่งซ้าย-ขวา รวม 55 ลบ.ม.ต่อวินาที และผันเข้าคลองระบาย D9 ในอัตรา 35 ลบ.ม.ต่อวินาที รวมปริมาณน้ำที่ตัดเข้าระบบทั้งสิ้น 90 ลบ.ม.ต่อวินาที พร้อมกับควบคุมปริมาณน้ำให้ไหลผ่านท้ายเขื่อนเพชรในอัตรา 140-160 ลบ.ม.ต่อวินาที ซึ่งปริมาณน้ำนี้จะไม่ส่งผลกระทบต่อพื้นที่ด้านท้ายเขื่อน ในเขต อ.ท่ายาง และ อ.บ้านลาด ก่อนปริมาณน้ำดังกล่าวจะไหลผ่านลงสู่เขตเทศบาลเมืองเพชรบุรี ในวันที่ 12 ส.ค. 61 อาจส่งผลให้เกิดน้ำเอ่อเข้าท่วมพื้นที่ลุ่มต่ำริมตลิ่งและพื้นที่ชุมชนบางแห่ง ระดับน้ำสูงเฉลี่ยประมาณ 30-50 ซม.

กรมชลประทาน ได้วางมาตรการในการช่วยเหลือและเร่งระบายน้ำในแม่น้ำเพชรบุรี โดยการติดตั้งเครื่องสูบน้ำในจุดเสี่ยงที่อาจจะมีน้ำเอ่อเข้าท่วมพื้นที่และชุมชน จำนวน 31 เครื่อง (สำรอง 5 เครื่อง) และติดตั้งเครื่องผลักดันน้ำในแม่น้ำเพชรบุรี เพื่อเร่งระบายน้ำในจุดที่มีการระบายน้ำได้ช้า จำนวน 38 เครื่อง (สำรอง 8 เครื่อง) นอกจากนี้ ยังได้รับการสนับสนุนเรือผลักดันน้ำ จำนวน 20 ลำ ติดตั้งในแม่น้ำเพชรบุรี บริเวณวัดคุ้งตำหนัก อ.บ้านแหลม ช่วยระบายน้ำลงสู่ทะเลได้เร็วขึ้น พร้อมกันนี้ยังได้เตรียมยานพาหนะและเครื่องจักรกลต่างๆ เช่น รถบรรทุก รถขุดตัก จำนวน 20 คัน ประจำในพื้นที่ เพื่อขุดเปิดทางน้ำอีกด้วย

 

แผนระยะยาว ขุดลอกคลองระบายน้ำลงทะเล


ส่วนมาตรการในการป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัยในพื้นที่ลุ่มน้ำเพชรบุรีตอนล่างระยะยาวนั้น กรมชลประทาน ได้ดำเนินการขุดลอกคลอง เพื่อระบายน้ำจากแม่น้ำเพชรบุรีออกสู่ทะเลอ่าวไทย โดยทำการปรับปรุงคลอง RMC3 เชื่อมคลองระบาย D9 ความยาว 27 กม. ซึ่งในขณะนี้อยู่ในระหว่างการดำเนินการก่อสร้างไปแล้วร้อยละ 30 และกำลังอยู่ระหว่างการสำรวจออกแบบโครงการขุดลอกคลองอีก 2 เส้นทาง คือคลอง D1 ความยาว 23 กม. และ คลอง D18 ความยาว 28 กม. ซึ่งทั้งหมดนี้กรมชลประทานจะเร่งดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในปี 2562

 

กองทัพระดมกำลังช่วยผู้ประสบภัย

ขณะที่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวว่า ได้สั่งการให้ทุกเหล่าทัพเตรียมยุทโธปกรณ์และเครื่องมือช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม โดยเฉพาะพื้นที่ภาคใต้ที่จะได้รับผลกระทบต่อจากนี้ พร้อมยืนยันว่าแม้ปริมาณน้ำปีนี้จะใกล้เคียงกับปี 2554 แต่การบริหารจัดการน้ำยังอยู่ในแผนที่สามารถควบคุมได้

พล.ร.อ.นริส ประทุมสุวรรณ ผู้บัญชาการทหารเรือ กล่าวว่า นายกรัฐมนตรีกำชับให้ทหารเข้าให้ความช่วยประชาชนอย่างเต็มที่ โดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีความจำเป็นเร่งด่วน ซึ่งขณะนี้กองทัพเรือได้นำเรือผลักดันน้ำจำนวน 20 ลำ เข้าช่วยเหลือประชาชนใน จ.เพชรบุรี ส่วนจะส่งเรือดันน้ำไปเพิ่มเติมหรือไม่จะต้องประเมินสถานการณ์อีกครั้ง

ข่าวที่เกี่ยวข้อง