วันนี้ (7 ส.ค.61) เวลา 07.00 น. ศูนย์เฉพาะกิจชั่วคราวในภาวะวิกฤต สรุปสถานการณ์น้ำและพื้นที่เสี่ยงสำคัญ โดยมีรายละเอียดดังนี้
ไทยมีฝนเพิ่ม-ตกหนักถึง 9 ส.ค.นี้
ช่วงวันที่ 7-9 ส.ค.61 ประเทศไทยจะมีฝนตกเพิ่มขึ้นและฝนตกหนักบางแห่งบริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ ส่วนในช่วงวันที่ 10-12 ส.ค.61 ประเทศไทยจะมีฝนตกลดลง โดยลุ่มน้ำเพชรบุรี ยังคงมีปริมาณน้ำหลากไหลอย่างต่อเนื่องลงเขื่อนแก่งกระจาน น้ำไหลล้นทางระบายน้ำล้นลงสู่แม่น้ำเพชรบุรี ขณะที่แม่น้ำสายหลักมีระดับน้ำเพิ่มขึ้นเนื่องจากปริมาณฝนที่ตกเพิ่มขึ้นแต่ยังไม่มีน้ำล้นตลิ่ง ยกเว้นในลำน้ำยังบริเวณ จ.ยโสธร ส่วนแม่น้ำโขงยังมีระดับน้ำล้นตลิ่งบริเวณ จ.นครพนม จ.มุกดาหาร และ จ.อุบลราชธานี และมีแนวโน้มลดลง
ประเทศไทยยังคงมีฝนตกปานกลางถึงหนักในภาคเหนือตอนบน ด้านตะวันตกของภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ฝั่งตะวันตก โดยมีฝนตกหนัก ภาคตะวันออก จ.จันทบุรี 59 มิลลิเมตร จ.ตราด 69 มิลลิเมตร ภาคใต้ จ.พังงา 105 มิลลิเมตร จ.นครศรีธรรมราช 64 มิลลิเมตร จ.สุราษฎร์ธานี 62 มิลลิเมตร
เตือน 35 จังหวัดรับมือน้ำท่วม-ดินถล่ม
ส่วนวันที่ 7-9 ส.ค.61 ลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทย มีกำลังแรงขึ้น ประกอบกับร่องมรสุมพาดผ่านภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ทำให้ประเทศไทยมีฝนตกเพิ่มมากขึ้นและมีฝนตกหนักบางแห่ง 35 จังหวัด ได้แก่ บริเวณ จ.เชียงราย จ.พะเยา จ.น่าน จ.ตาก จ.กำแพงเพชร จ.สุโขทัย จ.พิษณุโลก จ.พิจิตร จ.เพชรบูรณ์ จ.หนองคาย จ.บึงกาฬ จ.อุดรธานี จ.สกลนคร จ.นครพนม จ.มุกดาหาร จ.ราชบุรี จ.สุพรรณบุรี จ.กาญจนบุรี จ.อุทัยธานี จ.ชัยนาท จ.นครสวรรค์ จ.นครนายก จ.ปราจีนบุรี จ.สระแก้ว จ.ชลบุรี จ.ระยอง จ.จันทบุรี จ.ตราด จ.เพชรบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์ จ.ชุมพร จ.สุราษฏร์ธานี จ.ระนอง จ.พังงา และ จ.ภูเก็ต โดยอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก น้ำเอ่อล้นตลิ่ง และดินโคลนถล่มได้ ในช่วงวันที่ 10-12 ส.ค.61 ลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้จะมีกำลังอ่อนลง ทำให้ประเทศไทยมีฝนตกลดลง
เขื่อนแก่งกระจานน้ำล้น spillway สูง 33 ซม.
สำหรับสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำ อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ที่มีระดับเกินเกณฑ์ควบคุม (Upper Rule Curve) และปริมาณน้ำเกินร้อยละ 80 ของความจุ มีจำนวน 3 แห่ง ดังนี้
เขื่อนแก่งกระจาน สภาพน้ำในอ่างเก็บน้ำ ล่าสุดเวลา 06.00 น. มีปริมาณน้ำ 725 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 102% ปริมาณน้ำไหลเข้า 28.34 ล้าน ลบ.ม. ปริมาณน้ำไหลออก 13.33 ล้าน ลบ.ม. และมีปริมาณน้ำไหลล้นผ่านทางระบายน้ำล้นสูง 33 ซม. อัตราน้ำไหลผ่าน 38.7 ลบ.ม.ต่อวินาที และกาลักน้ำ 5.88 ลบ.ม.ต่อวินาที รวมอัตราการระบาย 154.37 ลบ.ม.ต่อวินาที
สภาพน้ำในพื้นที่ท้ายน้ำ ยังอยู่ในเกณฑ์ปกติ อย่างไรก็ตาม น้ำที่ล้นทางระบายน้ำจะส่งผลกระทบให้มีน้ำท่วมพื้นที่ริมสองฝั่งลำน้ำในบริเวณ อ.แก่งกระจาน อ.ท่ายาง อ.บ้านลาด อ.เมือง และ อ.บ้านแหลม ก่อนที่จะไหลลงทะเลต่อไป
การบริหารจัดการน้ำ เร่งพร่องระบายน้ำในแม่น้ำเพชรบุรีและในระบบชลประทาน รวมถึงการพร่องน้ำจากอ่างเก็บน้ำโดยกาลักน้ำและใช้เครื่องสูบน้ำ การแจ้งเตือนและการช่วยเหลือ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติได้ออกประกาศฉบับที่ 2/2561 (6 ส.ค.61) เรื่องสถานการณ์แม่น้ำเพชรบุรี
ขณะที่เวลา 07.00 น. ระดับน้ำในแม่น้ำเพชร ช่วงตัวเทศบาลเมืองเพชรบุรี ยังอยู่ในเกณฑ์ปกติ ไม่ถึงขีดแดง ไม่ล้นตลิ่ง ไม่ท่วมตัวเมืองเพชรบุรี โดยระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้นประมาณ 20 ซม. ต่ำกว่าตลิ่ง 1.5-2 ม.
เขื่อนน้ำอูนมีปริมาณน้ำ 102%
เขื่อนน้ำอูน สภาพน้ำในอ่างเก็บน้ำ มีปริมาณน้ำ 532 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 102% ปริมาณน้ำไหลเข้า 8.29 ล้าน ลบ.ม. มีปริมาณน้ำไหลออก 3.98 ล้าน ลบ.ม. แนวโน้มจะมีปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างลดลง และจะเพิ่มการระบายน้ำเป็น 4.15 ล้าน ลบ.ม.ต่อวัน สภาพน้ำในพื้นที่ท้ายน้ำยังคงปกติ คาดว่าจะไม่มีพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ เนื่องจากไม่มีน้ำล้นตลิ่ง ส่วนการบริหารจัดการน้ำ ควบคุมการระบายน้ำออกจากเขื่อน 3.50 ล้าน ลบ.ม. และเพิ่มการระบายน้ำโดยวิธีกาลักน้ำและเครื่องสูบน้ำอีก 0.3 ล้าน ลบ.ม. ส่วนการแจ้งเตือนและการช่วยเหลือ มีการแจ้งและให้ติดตามสถานการณ์น้ำใน จ.สกลนคร จ.บึงกาฬ จ.นครพนม ซึ่งลำน้ำอูนและลำน้ำสงครามไหลผ่าน
เขื่อนวชิราลงกรณสภาพน้ำในอ่างเก็บน้ำ ล่าสุดเวลา 05.00น. มีปริมาณน้ำ 7,502 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 85% ปริมาณน้ำไหลเข้า 16.05 ล้าน ลบ.ม. (00.00-05.00น.) มีปริมาณน้ำไหลออก 8.82 ล้าน ลบ.ม. (00.00-05.00น.) ปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างมีแนวโน้มลดลง สภาพน้ำในพื้นที่ท้ายน้ำยังคงปกติ ทั้งนี้ปริมาณน้ำที่ระบายเพิ่มไม่ล้นตลิ่ง แต่อาจส่งผลกระทบต่อบริเวณรีสอร์ทที่ตั้งอยู่ริมแม่น้ำแควน้อย การบริหารจัดการน้ำ เพิ่มการระบายน้ำเป็น 43 ล้าน ลบ.ม.ต่อวัน โดยแจ้งให้พื้นที่ท้ายเขื่อนตามลำน้ำแควน้อยทราบถึงแผนการระบายน้ำของอ่างเก็บน้ำ
สถานการณ์ระดับน้ำในแม่น้ำสายสำคัญ ลำน้ำสายหลักในประเทศไทยเพิ่มขึ้นจากฝนที่ตกหนักในช่วงที่ผ่านมาบริเวณภาคเหนือตอนบน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคตะวันออก ส่วนภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่างที่ยังคงมีปริมาณฝนน้อยต่อเนื่องโดยเฉพาะแม่น้ำมูลตอนบนมีระดับน้ำน้อย สำหรับภาคกลางมีระดับปานกลางถึงน้ำมาก และภาคใต้มีระดับปานกลางถึงน้ำมาก โดยปัจจุบันไม่มีน้ำล้นตลิ่ง แต่ยังมีน้ำมาก ลำน้ำยัง ต.เดิด อ.เมือง จ.ยโสธร โดยมีแนวโน้มระดับน้ำลดลง
แม่น้ำระหว่างประเทศ แม่น้ำโขงปริมาณน้ำในแม่น้ำที่ไหลจากประเทศจีนยังคงที่ แต่ยังมีมวลน้ำจากประเทศลาวไหลลงแม่น้ำโขง ส่งผลให้ยังคงมีระดับน้ำล้นตลิ่งเล็กน้อยบริเวณ อ.เมือง จ.มุกดาหาร 0.33 ซม. และ อ.โขงเจียม จ.อุบลราชธานี 0.08 เมตร ทั้งนี้ ระดับน้ำในลำน้ำโขง มีแนวโน้มลดลงจนต่ำกว่าตลิ่งในบริเวณดังกล่าว วันที่ 7 ส.ค.61 เป็นต้นไป
จากการติดตามสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดกลางและขนาดใหญ่ พบอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลาง ปริมาตรน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่มี 49,514 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 70 ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดกลาง มี 3,100 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 60 รับน้ำได้อีก 23,406 ล้าน ลบ. ม. น้ำไหลเข้าอ่างฯ (วันที่ 14-30 ก.ค. 61) มีน้ำไหลเข้าอ่างฯขนาดใหญ่ รวมทั้งประเทศ 10,107 ล้าน ลบ.ม. แบ่งเป็น ภาคเหนือ 3,276 ล้าน ลบ.ม. ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 1,557 ล้าน ลบ.ม. ภาคกลาง 205 ล้าน ลบ.ม. ภาคตะวันตก 3,821 ล้าน ลบ.ม. ภาคตะวันออก 155 ล้าน ลบ.ม. และภาคใต้ 1,093 ล้าน ลบ.ม.
อ่างเก็บน้ำที่ความจุเกิน 100% ขนาดใหญ่ 2 แห่ง อ่างเก็บน้ำน้ำอูน (102%) เขื่อนแก่งกระจาน (102%) ขนาดกลาง 21 แห่ง (ลดลง 2 แห่ง) ซึ่งอยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 19 แห่ง (ลดลง 3 แห่ง) และภาคตะวันออก 2 แห่ง (เพิ่มขึ้น 1 แห่ง )
เฝ้าระวังอ่างเก็บน้ำ 67 แห่ง ปริมาณน้ำมากกว่า 80-100%
อ่างเก็บน้ำที่ต้องเฝ้าระวัง หรือมีปริมาณมากกว่า 80-100% โดยอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ ได้แก่ เขื่อนศรีนครินทร์ (87%) เขื่อนวชิราลงกรณ์ (84%) ขนาดกลาง 65 แห่ง (ลดลง 2 แห่ง ) แยกเป็น ภาคเหนือ 7 แห่ง (ลดลง 2 แห่ง) ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 47 แห่ง (เพิ่มขึ้น 2 แห่ง) ภาคตะวันออก 8 แห่ง (เท่าเดิม ) ภาคกลาง 1 แห่ง (ลดลง 1 แห่ง) และภาคใต้ 2 แห่ง (ลดลง 1 แห่ง)
- พื้นที่เฝ้าระวังเสี่ยงน้ำท่วม : ริมแม่น้ำโขง ตั้งแต่ จ.เลย หนองคาย นครพนม มุกดาหาร อุบลราชธานี
- พื้นที่เฝ้าระวังจากการเร่งระบายน้ำ : อ่างฯ ขนาดใหญ่ที่มีระดับน้ำสูงกว่าเกณฑ์ควบคุม 9 แห่ง โดยเฉพาะอ่างฯ ที่มีปริมาณน้ำมากกว่า 80%
- ให้หน่วยงานเกี่ยวข้องจัดทำแผนการระบายน้ำจากอ่างเก็บน้ำที่มีระดับน้ำสูงกว่าเกณฑ์ควบคุมให้อยู่ในเกณฑ์
- จัดทำมาตรการเตรียมความพร้อมลดความเสี่ยงอุทกภัย : กรณีการระบายน้ำฉุกเฉินของอ่างเก็บน้ำและกรณีเขื่อนวิบัติ สำรวจความแข็งแรงของเขื่อน และสร้างการรับรู้ภาคประชาชนต่อเนื่อง
- สทนช.ตั้งศูนย์เฉพาะกิจชั่วคราวในภาวะวิกฤติ จาก 9 หน่วยงานร่วมปฏิบัติงานตลอด 24 ชม.ณ อาคาร SWOC กรมชลประทาน สามเสน ตั้งแต่ 3 ส.ค.61
- ประกาศศูนย์เฉพาะกิจชั่วคราวในภาะวิกฤติ ฉบับที่ 1 (5 ส.ค.61) ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเตรียมความพร้อมรับสถานการณ์และเฝ้าระวังป้องกันน้ำเอ่อล้นตลิ่ง และแจ้งเตือนประชาชน จากระดับน้ำแม่น้ำเพชรบุรีมีแนวโน้มสูงขึ้นเนื่องจากจะมีน้ำล้นทางระบายน้ำล้นเขื่อนแก่งกระจานไหลลงแม่น้ำเพชรบุรี ส่งผลให้ระดับน้ำเพิ่มขึ้น ฉบับที่ 2 (6 ส.ค.61) ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องประกอบด้วยกรมชลประทาน จังหวัดเพชรบุรี และส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง เตรียมพร้อมเผชิญเหตุและแจ้งเตือนให้ประชาชนที่อยู่บริเวณแม่น้ำเพชรบุรีเตรียมรับสถานการณ์ และเฝ้าระวังระดับน้ำแม่น้ำเพชรบุรีไหลเอ่อล้นเข้าท่วมพื้นที่ ในระยะต่อไป