วานนี้ (2 ส.ค.2561) ผู้สื่อข่าวรายงานว่าสื่อสังคมออนไลน์ต่างแชร์ภาพจากเพจเฟชบุ๊กหน่วยซีลราชสิทธฯ ที่ระบุว่า น้ำที่ตาน้ำขุนน้ำนางนอน อ.แม่สาย น้ำได้ผุดออกมาเป็นสีฟ้ามรกต ปกติน้ำจะมีใสไม่ใช่สีฟ้า
ชาวบ้านเล่าว่า ในอดีตนานมาแล้วน้ำที่ขุนน้ำนางนอนแห่งนี้ ก็เคยมีสีฟ้ามรกตอย่างในวันนี้และพอเวลาผ่านไป น้ำก็ไม่ได้เป็นสีฟ้าอีกเลย จนกระทั่งวันนี้ คาดการณ์กันว่าเมื่อไม่กี่วันก่อนมีการสูบน้ำออกจากถ้ำหลวงไปแล้ว และเป็นการสูบเอาตะกอนดินในถ้ำออกมาด้วยดังนั้นจึงเหลือทรายที่สะอาดบริสุทธิ์ในถ้ำเหมือนเมื่อก่อน
ภาพ: พันธ์ริน ต๊ะสุ
สายน้ำได้ไหลผ่านชั้นทรายแท้ๆน้ำที่ออกมาจึงมีสีฟ้า เพราะในถ้ำหลวงมีหาดทรายสีขาวละเอียดสวยงามมากเรียกว่า ”#หาดพัทยา" ส่วนด้านนอกถ้ำตรงที่ขุนน้ำผุดออกมาใกล้ๆกันก็มีถ้ำเล็กๆชื่อว่า"#ถ้ำทรายทอง"ในถ้ำนี้ก็มีทรายขาวสะอาดบริสุทธิ์จำนวนมากเช่นกัน
ในอดีตชาวบ้านมักจะตักทรายในถ้ำนี้ไปถวายวัดในช่วงสงกรานต์ #ดังนั้นในวันนี้สีของน้ำเป็นสีฟ้าเช่มเดิมแบบในอดีต #หมายความว่าระบบนิเวศธรรมชาติของถ้ำหลวงขุนน้ำนางนอนแบบในอดีตได้กลับมาแล้ว
ภาพ: พันธ์ริน ต๊ะสุ
กรมน้ำบาดาล ระบุน้ำถ้ำหลวงเทียบน้ำแร่
ด้าน ดร.อรนุช หล่อเพ็ญศรี รองอธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาล กล่าวว่า จากการตรวจสอบคุณภาพน้ำในถ้ำหลวงมีคุณภาพดีเทียบได้กับน้ำแร่ เพราะมีการผ่านชั้นน้ำหินปูน และยังไม่ผ่านการรบกวนจากกิจกรรมของมนุษย์ และทางกรมทรัพยากรน้ำบาดาล ยังเก็บน้ำในถ้ำจากโถงต่างๆ ออกมาตรวจสอบคุณภาพน้ำอย่างละเอียดในห้องปฏิบัติการ
น้ำหยดหินงอกหินย้อยในถ้ำหลวง เกิดจากน้ำที่เข้ามาแล้วมีการปล่อยเกลือแร่ และตกตะกอนออกเป็นแร่ เท่าที่ตรวจคุณภาพน้ำจากหินงอกหินย้อยของโถงที่ 3 และเนินนมสาว ดีหมด ส่วนจุดที่ขุดบ่อบาดาล ต้องส่งไปตรวจสอบข้างนอก 3 จุดและข้างในอีก 10 จุด และหลังจากนี้จะต้องปิดเพื่อไม่ให้เกิดความเสียหายกับคุณภาพน้ำภายในถ้ำ
ทั้งนี้ "น้ำแร่" ก็คือน้ำบาดาลที่มาจากแหล่งธรรมชาติ เช่นน้ำพุธรรมชาติ น้ำพุร้อน ที่มีแร่ธาตุละลายอยู่ในน้ำแล้ว โดยหลักๆ จะมีแร่ธาตุอยู่ 5 ชนิด คือ แคลเซียม โซเดียม แมกนีเซียม โพแทสเซียม และกำมะถัน แต่จะมีแร่ชนิดไหนมากกว่าก็ขึ้นอยู่กับแหล่งของน้ำที่นำมา และรสชาติที่แตกต่างกัน