วันนี้ (11 ก.ค.2561) น.อ.อนันท์ สุราวรรณ์ ผบ.กรมรบพิเศษที่ 1 ทหารเรือ กล่าวถึงการปฏิบัติงานในถ้ำหลวง ว่าตลอดเส้นทางสังเกตผนังถ้ำแคบๆ เป็นโคลนหนา จึงประเมินได้ว่าถ้ำนี้เคยมีน้ำท่วม ทั้งนี้ ระหว่างทำงานตรงสามแยกมีน้ำไหลจากผาหมีและน้ำเพิ่มขึ้นตลอด โดยเฉพาะช่วงบ่ายสี่โมงที่น้ำขึ้นเร็วจาก 3 ซม. ถึง 13 ซม. ขณะที่ฝนตกตลอดจึงไม่รู้น้ำจะเพิ่มอีกเมื่อใด
ต่อมาจึงเสนอผู้บัญชาการเหตุการณ์ ศอร. ให้สูบน้ำ และมีการระดมกำลังเพื่อสูบน้ำ ขณะที่การสำรวจโพรงที่เชื่อมไปยังถ้ำยังหาไม่เจอ จนที่สุดรอเวลาไม่ได้ เพราะเวลาล่วงเลยมามาก จึงเป็นต้องเดินหน้าต่อและรอน้ำลดไม่ได้ ดังนั้น ทีมดำน้ำจึงวางไกด์ไลน์จากโถงสามถึงสามแยก จากนั้นจึงวางแนวเชือกจากสามแยกต่อ จึงเป็นที่มาของการวางถังอากาศเป็นระยะ ถึงจุดสุดท้ายที่นักดำน้ำอังกฤษพบทีมหมูป่า ซึ่งใช้เวลาดำน้ำเข้าออกจากจุดนั้น 5 ชั่วโมง
น.อ.อนันท์ ระบุว่า เมื่อประเมินว่าสามารถดำเนินการได้ ทีมงานได้นำเสบียง น้ำ เจลพลังงาน ขนม และฟรอยด์ ส่งเข้าไปด้านใน โดยส่งซีลกลุ่มแรก ที่คิดว่าเก่งที่สุด 4 คน เข้าไปพร้อมเสบียง หลังจากนั้นประมาณ 1 ชั่วโมง ส่งไปอีก 3 คน หนึ่งในนั้น คือ พ.ท.นพ.ภาคย์ โลหารชุน หรือ หมอภาคย์ ซึ่ง
ทั้ง 2 ทีม ขาดการติดต่อกว่า 23 ชั่วโมง จนเกิดความตึงเครียด เพราะส่งไปแล้วไม่รู้ว่าเป็นหรือตาย ต่างชาติใช้เวลา 5 ชม. 30 นาที คิดว่าศักยภาพของเรา น่าจะใช้เวลา 7-8 ชั่วโมง ต้องกลับออกมา แต่ทั้งหมดใช้เวลา 23 ชั่วโมง จึงกลับออกมาที่โถง 3 และกลับมาได้เพียง 3 คน เพราะที่เหลือใช้อากาศหมดถัง และทั้ง 3 คน ยังต้องรับการรักษาตัวที่โรงพยาบาล เพราะสภาพร่างกายแย่มาก
ผบ.กรมรบพิเศษที่ 1 ทหารเรือ ยอมรับว่า เหตุการณ์นี้เป็นเหตุการณ์ที่ผู้รับผิดชอบหน้างานเครียดตลอดเวลา เพราะความยากของงาน คือ 1. มืด 2. งานใหม่ไม่มีประสบการณ์ 3. ความเย็นของน้ำในถ้ำ และ 4. ไม่รู้ว่าระดับน้ำจะเพิ่มขึ้นเมื่อใด ดังนั้นปัจจัยเหล่านี้คือความเสี่ยงที่ต้องคิดตลอดเวลา
แต่เพราะนักฟุตบอล 13 ชีวิต ที่รอเราอยู่ ทิ้งไม่ได้ ตามที่ผู้บังคับบัญชาให้ข่าว ว่าเราไม่พบ เราไม่เลิก ทุกครั้งที่ผู้บังคับบัญชาให้กำลังใจและดูแลงานนอกถ้ำ แต่ไม่พบช่องหรือรูที่เข้าไปหาเด็กได้ ความหวังที่เป็นไปได้มากสุด แม้มีโอกาสน้อย คือการนำเด็กออกทางน้ำเท่านั้น จึงเป็นแรงกดดันที่จะเดินหน้าต่อ
จากนั้นมีการปรับแผนใหม่ โดยวางขวดอากาศเป็นระยะๆ และจัดทีมวางขวดอากาศ ซึ่งทุกครั้งที่เจ้าหน้าที่ออกไปทำงาน 3-10 ชั่วโมง กว่าจะกลับมาให้เห็นว่ายังมีชีวิตอยู่ จนมีเหตุการณ์ที่พวกเราทราบ คือ จ.อ.สมาน กุนัน หรือ จ่าแซม รับอาสาวางขวดอากาศกับทีมดำน้ำต่างชาติ ซึ่งทีมนั้นมี ต่างชาติ 4 คน และไทย 2 คน หนึ่งในนั้นคือจ่าแซม ซึ่งต่างชาติใช้เวลา 3 ชั่วโมง จึงคาดว่าทีมจ่าแซมจะใช้เวลาไม่เกิน 5 ชั่วโมง
แต่ 7 ชั่วโมงผ่านไป ทั้ง 2 คน ยังไม่กลับมา แต่ยังประเมินสถานการณ์เข้าข้างตนเอง เพราะเชื่อว่าในถ้ำ มีช่วงน้ำตื่นที่หายใจได้ จึงมั่นใจว่าคงเหนื่อยแล้วหยุดพัก ประมาณตีหนึ่ง บัดดี้ของจ่าแซมกลับมาที่โถง 3 คนเดียว เกิดเหตุไม่ดีขึ้น เป็นคืนที่เราสูญเสีย แต่สูญเสีย 1 กับ 13 ชีวิตที่รอเราอยู่ เราต้องเดินหน้าต่อ ยอมรับในความเสี่ยง เพราะหน่วยเราถูกฝึกให้รับภารกิจเสี่ยง เรื่องการสูญเสียเตรียมใจอยู่แล้ว
อย่างไรก็ตาม ภารกิจสุดท้ายทำให้ได้ร่วมงานกับทีมดำน้ำระดับโลก จึงได้เห็นวิธีการ แนวทาง และการดำน้ำในถ้ำ ที่จะทำให้เราพัฒนาต่อไปในการรองรับอุบัติภัยที่อาจจะเกิดขึ้นกับประเทศไทยในอนาคต