วันนี้ (1 ก.ค.2561) นายดำรงค์ พิเดช อดีตอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช กล่าวถึงการหาแนวเบี่ยงเบนน้ำเข้าถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน จ.เชียงราย ว่า หลังจากมีการเสนอให้สำรวจจุดตาน้ำมุดที่เป็นเส้นทางน้ำธรรมชาติ ที่คาดว่าจะเป็นจุดไหลเข้าสู่ถ้ำหลวง เนื่องจากพบว่าในช่วงหลายวันหลังมีฝนตกต่อเนื่องทำให้น้ำไหลหลากในถ้ำ หน่วยซีลแและเจ้าหน้าที่สังเกตจากสีน้ำที่มีความขุ่น และไหลแรง ซึ่งเมื่อวานนี้ (30 มิ.ย.) นายธัญญา เนติธรรมกุล อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธ์ุพืช ได้ส่งทีมสำรวจชุดไฟป่า ของกรมอุทยานฯ เข้าสำรวจและได้เจอจุดตาน้ำที่คาดว่าจะไหลเข้าไปเติมในถ้ำแล้ว โดยเส้นทางที่สำรวจเป็นลำน้ำห้วยผาฮี้
ภาพ:กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธ์ุพืช
การเดินสำรวจมุ่งหาจุดตาน้ำลำห้วยผาฮี้ และผาหมี เบื้องต้นเจอจุดหนึ่งทางด้านทิศใต้น้ำไหลแรง และมาร์กจุดไว้ก่อน หลังจากทดลองนำใบไม้ทิ้งลงไปก็จะหายไปในโพรงนี้แต่ยังไม่สรุปได้ว่าิเป็นน้ำที่ไหลเข้าถ้ำหลวงโดยตรงหรือไม่ แต่หากเป็นจุดที่น้ำมุดเข้าถ้ำหลวง ก็จะต้องหาทางปิดตาน้ำ ร่วมกับการขุดเจาะบาดาลหน้าถ้ำ และการสูบน้ำร่วมกัน แต่หากมีฝนตกลงมาเติมในน้ำเรื่อยๆ
ด้านนายกมลไชย คชชา ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 15 กล่าวว่า ทีมของนายสวัสดิ์ ทวีรัตน์ ผอ.ส่วนอุทยานแห่งชาติ พร้อมกับกำลังเจ้าหน้าที่ของ สบอ.15(เชียงราย) จำนวน 200 คน ปฏิ บัติการค้นหาและกู้ภัย ผู้พลัดหลงเข้าไปในถ้ำหลวง เป็นวันที่ 7 ที่ทำการค้นหา และเป็นการค้นหาต่อโดยจัดส่งชุดปฏิบัติการภาคสนาม ร่วมลาดตระเวน เพื่อค้นหาปล่องถ้ำเหนือถ้ำหลวงบริเวณผาหมี เพื่อหาทางเข้าไปช่วยเหลืออีกทางหนึ่ง และจัดส่งชุดปฏิบัติการภาคสนาม ลาดตระเวน สำรวจลำห้วยฮี้ที่ไหลลงไปสู่ผ่านถ้ำหลวง เพื่อเบี่ยงเบนทางน้ำไม่ให้ไหลลงไปเพิ่มเติมน้ำในถ้ำหลวง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กรมทรัพยากรน้ำบาดาล ได้เจาะบ่อบาดาลมีความลึก 42 เมตรได้ 2 บ่อ เพื่อจะช่วยลดระดับน้ำในถ้ำ ซึ่งเร่งสูบระบายน้ำออกจากถ้ำหลวง เพื่อจะให้ทางหน่วยซีลทำงานได้อย่างเต็มที่