จุด 1 ปากถ้ำ
เจาะบาดาลเร่งระบายน้ำออกจากถ้ำ กรมชลประทาน และกรมทรัพยากรน้ำบาดาล เข้าร่วมภารกิจเจาะบาดาล โดยใช้เครื่องเจาะชั้นหินหาทางระบายน้ำออกจากถ้ำ หลังหน่วยซีล ทีมกู้ภัย และเจ้าหน้าที่ร่วมดำน้ำสำรวจและค้นหาทีมหมูป่าทั้ง 13 คน แต่เกิดปัญหาสภาพอากาศ ฝนตกหนักอย่างต่อเนื่องเป็นเวลา 6 วัน ทำให้ระดับน้ำในถ้ำเพิ่มสูงขึ้นจนน้ำท่วม เจ้าหน้าที่ไม่สามารถดำน้ำค้นหาต่อไปได้
สูบน้ำจากหนองน้ำพุ และขุดเบี่ยงทางน้ำ กรมชลประทานร่วมกับสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเชียงราย ได้เข้าสูบน้ำบริเวณหนองน้ำพุ เพื่อลดระดับน้ำลงแล้วให้น้ำในถ้ำไหลออกมา พร่องน้ำในถ้ำออกให้ได้มากเร็วที่สุด ซึ่งหนองน้ำนี้ห่างจากถ้ำหลวงประมาณ 800 เมตร
จุด 2 โถงพัทยาบีช
หน่วยซีลดำน้ำค้นหาทีมหมูป่า แม้ระดับน้ำในถ้ำจะเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่หน่วยบัญชาการสงครามพิเศษทางเรือ หรือ "หน่วยซีล" (SEAL) ยังคงค้นหาผู้สูญหายไม่หยุด ตั้งแต่ออกเดินทางจาก อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี มุ่งหน้าถ้ำหลวง จ.เชียงราย โดยเจ้าหน้าที่ได้แบ่งทีมสำรวจพื้นที่ใต้น้ำ จนสามารถเจาะทะลุถ้ำเล็กๆ เพื่อไปโถงกลางซึ่งเป็นจุดที่คาดว่าผู้สูญหายจะอยู่ได้แล้ว แต่ยังไม่พบผู้สูญหายทั้ง 13 คน มีการตรวจพบร่องรอยการเอาชีวิตรอดของการเดินขึ้นที่สูง ทั้งรองเท้า รอยเท้า และกระเป๋าของผู้สูญหาย
เดินเครื่องสูบน้ำระบายน้ำออกจากถ้ำ กรมชลประทานได้ส่งเครื่องสูบน้ำเข้าไปในถ้ำอย่างต่อเนื่อง โดยมีการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค แม่สาย, บาดาลแม่สาย เร่งเดินสายไฟและติดตั้งเครื่องสูบน้ำ เครื่องปั่นไฟ และประสานกรมทรัพยากรบาดาลทำงานแข่งกับเวลา เพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วมหลายจุดในถ้ำ สนับสนุนการทำงานของหน่วยซีล
แม้จะพบอุปสรรคน้ำท่วมเครื่องสูบน้ำ แต่เจ้าหน้าที่ทุกฝ่ายต่างช่วยกันเดินหน้าหาทางระบายน้ำ และยังส่งเครื่องสูบน้ำเข้าไปสูบภายในถ้ำอย่างต่อเนื่อง จนระดับน้ำในถ้ำขณะนี้ (30 มิ.ย.2561) เป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น
กรมทรัยากรธรณี-มก. เจาะเพดานถ้ำทะลุโถงพัทยาบีช ทีมนักธรณีวิทยาและผู้เชี่ยวชาญด้านถ้ำ เร่งจัดเตรียมข้อมูลทางด้านธรณีวิทยาและสภาพพื้นที่ของถ้ำหลวง พร้อมกับเสนอแนวทางความเป็นไปได้ในการเจาะปล่องถ้ำ เพื่อส่งต่อให้กับผู้เชี่ยวชาญขุดเจาะถ้ำ ช่วยหน่วยซีลหาทางทะลุถึงโถงพัทยาบีชโดยเร็วที่สุด พร้อมทั้งจัดทำ Cross section เพื่อหาระยะแนวดิ่งจากบนเขา ถึงพื้นถ้ำ รวมถึงความหนาของผนังถ้ำเพื่อการเจาะแนวข้าง และได้กำหนดตำแหน่งโพรง ปล่อง หลุมยุบ จากการแปลความหมายข้อมูลภาพถ่ายดาวเทียมความละเอียดสูงในพื้นที่จุดที่ 2 และ จุดที่ 3
จุด 3 ดอยผาหมี
ตชด.-กรมอุทยานฯ เดินสำรวจโพรงหาทางเข้าถ้ำ ทีมตำรวจตระเวนชายแดน หน่วยเรือรักษาความสงบเรียบร้อยตามลำแม่น้ำโขง ทีมกู้ภัยกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช รวมทั้งกรมป่าไม้ได้ร่วมเดินเท้าสำรวจโพรงถ้ำหลวง เพื่อหาทางเข้าถ้ำทางใหม่ และสำรวจความกว้าง ลึก รวมถึงเส้นทางว่าโพรงดังกล่าวเชื่อมไปถึงโถงถ้ำหลวง หวังช่วยผู้สูญหายได้โดยเร็วที่สุด
ด้านกรมทรัพยากรธรณีวิทยาเปิดเผยข้อมูลการเดินสำรวจ พบโพรง เจ้าหน้าที่ได้เตรียมเครื่องมือไปสำรวจโพรงซึ่งใกล้กับหาดพัทยา โดยใช้วิธีการสแกนสำรวจก่อนว่าจะเจาะได้หรือไม่ ถ้าดำเนินการได้ก็จะเจาะทันที โดยจะเจาะเป็นโพรงกว้าง 6 นิ้ว เพื่อให้สามารถส่งอาหาร และอุปกรณ์ยังชีพเข้าไปข้างในถ้ำได้
ตำรวจพลร่มโรยตัวสำรวจ-เจาะโพรงเปิดทางเข้าถ้ำ ตำรวจพลร่มค่ายนเรศวร นำโดย พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ทำการโรยตัวสำรวจโพรงถ้ำ จนได้รับข่าวดีว่า พบห้องโถงใหญ่จนสามารถปลดเซฟตี้เชือกและเดินได้สะดวก มีอากาศหายใจ จึงได้เดินสำรวจต่อพร้อมเจาะโพรงเปิดทางเดินหน้าเข้าถ้ำหลวงต่อไป และได้นำกล่องยังชีพหย่อนลงไปภายในถ้ำ 20 กล่อง ผ่านทางโพรงถ้ำ ภายในมีข้าวเหนียว-หมูทอด ขนมปัง น้ำ นม ปากกา ไฟกะพริบ ไฟฉาย โทรศัพท์มือถือ และแผนที่ถ้ำหลวง พร้อมจดหมายระบุข้อความว่า หากได้รับของตอบกลับด่วน! ว่าอยู่ตรงไหนของแผนที่ ทุกคนจะรีบช่วย หวังให้ผู้สูญหายเขียนข้อความใส่แผนที่ลอยน้ำกลับมา
จุด 4 ปลายถ้ำ
กรมชลประทาน-กรมทรัพยากรธรณี หาโพรงระบายน้ำ เจ้าหน้าที่ได้มีการปรับเปลี่ยนแผนการพร่องน้ำหลังน้ำในถ้ำท่วมสูงจนมิดเครื่องสูบน้ำในถ้ำ โดยนำท่อเหล็กจากเครื่องเจาะพื้นผิวหิน เจาะลงไปที่บริเวณชั้นหินใกล้ถ้ำหลวง
เบี่ยงทางน้ำไหลออกจากถ้ำ ทางเจ้าหน้าที่เทศบาลตำบลเวียงพางคำ เจ้าหน้าที่บรรเทาสาธารณภัย เจ้าหน้าที่กรมป่าไม้ รวมทั้งอาสาสมัครในพื้นที่ ออกเดินสำรวจจุดเบี่ยงน้ำและช่วยกันยกหินนำมาวางสกัดและเบี่ยงทางน้ำจากบริเวณดอยผาหมีไม่ให้ไหลเข้าไปในถ้ำหลวงเพื่อช่วยลดปริมาณน้ำในถ้ำอีกทาง