ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

"ธรรมศาสตร์" บอกลาขยะพลาสติก

สิ่งแวดล้อม
5 มิ.ย. 61
16:30
8,320
Logo Thai PBS
"ธรรมศาสตร์" บอกลาขยะพลาสติก
มธ.ศูนย์รังสิต เดินหน้า 5 มาตรการลด “พลาสติกครั้งเดียวทิ้ง” งดแจกถุง ช้อน-ส้อม-หลอด ต้องร้องขอ หลังขยะ 2,400 ตันต่อปี ถูกผลิตโดยคน 40,000 คน พบเป็นการใช้ถุงพลาสติกจากร้านสะดวกซื้อ 6,500,000 ใบต่อปี และคัดแยก -รีไซเคิลได้เพียงร้อยละ 30

วันนี้ (5 มิ.ย.2561) ไทยพีบีเอสออนไลน์ลงพื้นที่สำรวจภายในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต หลังมีการใช้มาตราการ ลด “พลาสติกครั้งเดียวทิ้ง” เริ่มขึ้นเมื่อวันที่ 1 มิ.ย.ที่ผ่านมา เพื่อเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ถุงพลาสติกในร้านสะดวกซื้อให้เป็นศูนย์ โดยพบว่าพนักงานร้านค้าสะดวกซื้อภายในมหาวิทยาลัย จะสอบถามลูกค้าที่มาใช้บริการถึงความต้องการในการรับถุงพลาสติกเพื่อใส่สินค้า โดยมีการแนะนำถุงยืม หรือถุงผ้าเพื่อให้ลูกค้าที่จำเป็นต้องใช้ถุงเพื่อใส่สินค้าจำนวนมากหรือของร้อนเท่านั้น

ผู้จัดการร้านสะดวกซื้อ ภายในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต กล่าวว่า ทางร้านได้เข้าร่วมโครงการกับทางมหาวิทยาลัย เพื่อรณรงค์ให้ลดการใช้ขยะพลาสติกมาตั้งแต่ปี 2558 พนักงานภายในร้านจะต้องพูดแนะนำกับลูกค้าที่มาใช้บริการถึงการลดใช้ถุงพลาสติก ช้อน ส้อม และหลอดพลาสติกเสมอ


ส่วนมากลูกค้าให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี แต่มีบางครั้งที่เกิดปัญหา เนื่องจากบุคลากรในมหาวิทยาลัยหรือนักศึกษาบางคนไม่ทราบถึงนโยบายการลดขยะพลาสติกนี้ จนเกิดความไม่พอใจที่ไม่ได้รับถึงพลาสติกเพื่อใส่สิ่งของ อีกทั้งร้านอยู่ในส่วนของหอพักนักศึกษา ส่วนใหญ่ลูกค้าจะซื้อสินค้าจำนวนมากเพื่อกลับขึ้นหอพัก ทำให้จำเป็นต้องใช้ถุงพลาสติก

ร้านได้มีการนำถุงยืม หรือถุงผ้าเพื่อให้ลูกค้าใส่สินค้ากลับไปที่หอพัก แล้วนำกลับมาคืนเมื่อมาใช้บริการครั้งถัดไป ขณะที่นักศึกษาในรายวิชา TU100 ก็ได้มีการทำโครงการ โดยนำเสื้อมาดัดแปลงเป็นถุงผ้า แขวนไว้หน้าร้าน เพื่อให้ลูกค้าใช้ใส่สิ่งของแล้วนำกลับมาคืนในครั้งถัดไปเช่นกัน

ชาว มธ.ไม่รับพลาสติก "ไม่มีถุงก็อยู่ได้"

นายเศกสิทธิ์ แสนโกศิก นักศึกษาชั้นปีที่ 4 คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ศูนย์รังสิต บอกว่าเห็นด้วยกับมาตรการลดขยะพลาสติก โดยระบุว่า ในหนึ่งวัน เข้าร้านสะดวกซื้อภายในมหาลัย ไม่ต่ำกว่า 2-3 ครั้ง ก็ผลิตขยะเพิ่ม 1-2 ชิ้นแล้ว หากรวมกันหลายคนก็หลายชิ้น แต่ถ้าเราแค่ปฏิเสธว่า ไม่รับถุงพลาสติก จะเป็นการช่วยลดปริมาณขยะได้อีกทางหนึ่ง

เรื่องการปฏิเสธถุงพลาสติกตอนนี้เหมือนจะเป็นนิสัยไปแล้ว ส่วนตัวไม่ค่อยจะได้ใช้แล้วถุงพลาสติก ถ้ามันน้อยมากจริงๆ ถือได้ ถ้ามีกระเป๋าก็เลือกใส่กระเป๋าแทน

นายเศกสิทธิ์ ย้ำว่า หากทุกคนยังไม่เห็นความสำคัญของปัญหานี้ และไม่เลือกที่จะปฏิเสธถุงพลาสติก ในอนาคตอาจจะส่งผลกระทบต่อโลก ต่อประเทศ คนหนึ่งคน ใช้ถุงพลาสติกวันละ 1 ชิ้น ก็จะมีขยะพลาสติกเพิ่มขึ้นเป็น 60 ล้านชิ้น  ซึ่งสิ่งที่อาจจะช่วยได้ คือทุกคนต้องมีส่วนร่วมในการช่วยกันแก้ปัญหา คนละไม้ คนละมือ


สอดคล้องกับ น.ส.อุ่นเกล้า ทองรักษ์ นักศึกษาชั้นปีที่ 2 คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน กล่าวว่า ร้านสะดวกซื้อภายในมหาวิทยาลัย จะขอความร่วมมือไม่ให้มีการใช้ถุงพลาสติก ส่วนตัวมีกระเป๋าสะพายของตนเอง เวลาซื้อสิ่งของก็จะใส่ในกระเป๋าอยู่แล้ว และมาตรการนี้ก็ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงนิสัย เวลาซื้อสินค้าก็จะบอกไม่ต้องใส่ถุงโดยอัตโนมัติ

การรณรงค์เลิกใช้ถุงพลาสติกหรือรณรงค์ให้ใช้ถุงผ้า นักศึกษาจะทำหรือไม่ทำก็ขึ้นอยู่กับเขา ซึ่งโครงการที่มหาวิทยาลัยทำขึ้น อาจจะดูเหมือนการบังคับ แต่เป็นการเริ่มให้ช่วยกันทำ เป็นไปได้มากกว่าการณรงค์ เพราะผลของการลงมือทำย่อมดีกว่า


เช่นเดียวกับ น.ส.พิชชาภา โชติพัฒนกุล นักศึกษาชั้นปีที่ 1 คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน กล่าวว่า ตั้งแต่วันแรกที่เข้ามาในรั้วธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยได้แจกถุงผ้า และกระติกน้ำให้ทุกคน เพื่อให้ใช้ถุงผ้าใส่สิ่งของ และใช้กระติกน้ำส่วนตัวเติมน้ำจากตู้กดน้ำ บริเวณตู้กดน้ำจะมีป้ายเชิญชวนลดการใช้ขวดพลาสติกติดอยู่ด้วย ทำให้นักศึกษาส่วนใหญ่ลดการสร้างขยะพลาสติกได้จำนวนมาก


ส่วนร้านค้าสะดวกซื้อจะไม่เสนอเราก่อน คือ เขาจะไม่ให้ถุงพลาสติกทันที แต่ต้องให้ลูกค้าเลือกและตัดสินใจว่าต้องการถุงพลาสติก ช้อน ส้อม หลอดพลาสติกหรือไม่ ทำให้เลือกที่จะปฎิเสธการสร้างขยะพลาสติกได้ 

มันเป็นการทำให้เราพูดคำว่า ไม่ต้องใส่ถุงก็ได้ค่ะ บ่อยขึ้น เพราะว่าเรารู้ว่ามันไม่มีถุงแล้วเราอยู่ได้

ด้านนายศุภวิชญ์ วุฒิศาสตร์ นักศึกษาชั้นปีที่ 3 คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน กล่าวว่า ทุกคนสามารถช่วยกันลดปัญหาขยะพลาสติกได้ ซึ่งไม่ได้เป็นหน้าที่ของใครคนใดคนหนึ่ง แต่ขึ้นอยู่กับทุกคนว่าจะต้องช่วยกัน ถ้าสังคมคิดถึงสิ่งแวดล้อม เลี่ยงที่จะไม่ใช้ถุงพลาสติก ปัญหาก็จะค่อยคลี่คลาย ส่วนตัวมองว่าขึ้นอยู่กับคน ถ้าคนร่วมมือมันก็ได้ ถ้าไม่ก็ตามนั้น


1 ปี ตั้งเป้า ลดขยะพลาสติก ร้อยละ 50 

ทั้งนี้ ผศ.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล รองอธิการบดีฝ่ายความยั่งยืนและบริหารศูนย์รังสิต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ถือเป็นครั้งแรกที่มหาวิทยลัย ร่วมมือกับร้านค้าปลีกหลายแห่ง ร่วมกันลดขยะพลาสติก ซึ่งวันนี้จะก้าวไปไกลมากกว่าแค่การลดถุงพลาสติก ที่เป็นเพียงแค่ส่วนหนึ่งของพลาสติกชนิดใช้ครั้งเดียว แต่ความจริงยังมีทั้งแก้วน้ำ ช้อน ส้อม หลอดพลาสติก และอื่นๆ ที่เป็นปัญหาของขยะล้นโลกในปัจจุบัน

ปัจจุบัน มธ.ศูนย์รังสิต มีขยะพลาสติกคิดเป็นร้อยละ 80 ของปริมาณขยะทั้งหมด เป้าหมายหลังจากนี้คือการลดลงให้เหลือร้อยละ 50 ภายใน 1 ปี ด้วยมาตรการ เช่น เลิกให้ถุงพลาสติกโดยเด็ดขาด แต่เปลี่ยนเป็นจำหน่าย หรือให้ยืมตามมาตรการที่เหมาะสมของแต่ละร้าน หรือลดราคาให้กับผู้ที่นำแก้วมาซื้อน้ำ เป็นต้น


นอกจากนี้ยังได้ขยายผลไปสู่โรงอาหารและตลาดนัดภายในมหาวิทยาลัย รวมถึงผลักดันให้เกิดมาตรการเหล่านี้ในมหาวิทยาลัยอื่นๆ ไปจนถึงระดับประเทศ

จากการดำเนินโครงการลดใช้ถุงพลาสติกต่างๆ ตั้งแต่ปี 2558 พบว่าสามารถลดปริมาณการใช้ถุงพลาสติกลงได้กว่าร้อยละ 30 หรือราว 1,800,000 ใบ รวมไปถึงการดำเนินนโยบายมหาวิทยาลัยสีเขียว มุ้งเน้นการรักษาสิ่งแวดล้อม และยกระดับให้เป็นมหาวิทยาลัยยั่งยืน

 

 อ่านข่าวเพิ่มเติม

ลุ้น "1 แสน" รายชื่อ ดึง "ห้าง-ร้านดัง" คิดค่าถุงพลาสติก

หยุดทิ้งเถอะ ! สัตว์ไม่รู้ว่าพลาสติก “กินไม่ได้”

รวมสัตว์โลกหลากชนิด สังเวยชีวิตจากขยะ

ชีวิตสัตว์ทะเลพิการ เหยื่อขยะพลาสติก

20 กระทรวง Kick Off ลดใช้ถุงพลาสติก-โฟม

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง