เทคโนโลยีที่พัฒนาอย่างรวดเร็วในยุคดิจิทัล ประกอบกับแรงหนุนสำคัญกับ โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) แผนยุทธศาสตร์ภายใต้ไทยแลนด์ 4.0 ของรัฐบาล การผลิตบุคลากรในสายดิจิทัล ทั้งผู้พัฒนาระบบปัญญาประดิษฐ์ (AI) หรือ หุ่นยนต์ เพื่อรองรับความต้องการด้านแรงงานจึงเป็นโจทย์ใหญ่ที่สังคมไทยต้องคิด และขณะนี้สถาบันอุดมศึกษาได้เดินหน้าปรับผลิตบุคลากรอย่างเร่งด่วน
ทางรอดยุค AI ต้องปรับหลักสูตร เน้น “คณิต-วิทย์”
ศ.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) กล่าวในงานเสวนา AI โอกาส หรือ อุปสรรค โดยสะท้อนให้เห็นถึงความจำเป็นในการพัฒนาคนรับเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) ว่า เศรษฐกิจปัจจุบันถูกขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยี ในขณะที่ประเทศไทยในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า มีความเสี่ยงที่แรงงานจะถูกระบบอัตโนมัติ (Automation) และปัญญาประดิษฐ์ (AI) เข้ามาแทนที่ ซึ่งหากปรับตัวไม่ทันหรือไม่ปรับตัว อาจไม่สามารถแข่งขันกับประเทศอื่นได้ ด้วยเหตุนี้ จึงจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนทิศทางการศึกษาเพื่อรองรับความเปลี่ยนแปลงที่กำลังจะเกิดขึ้น
ไทยเป็นประเทศที่เหลืออยู่ไม่กี่ประเทศในโลกที่ยังแยกระหว่าง สายวิทย์ และสายศิลป์ ความไม่ใส่ใจในเนื้อแท้ของวิทยาศาสตร์ ทำให้ไทยกลายเป็นผู้ตาม
มหาวิทยาลัยไทยกำลังตามไม่ทัน และกำลังจะถูกทิ้งห่างไปทุกวัน หากไม่ปรับตัวให้ทันอาจส่งผลกระทบ และมันก็จะทำลายตัวของมันเอง ดังนั้นผู้ที่เรียนทางด้านสังคมก็จำเป็นต้องรู้ทางด้าน Coding คอมพิวเตอร์ คณิตศาสตร์ และ AI ขณะเดียวกัน ต้องสามารถประยุกต์ใช้ความรู้นั้นกับสังคมให้ได้ และจำเป็นต้องเป็นผู้ที่สื่อสารได้ เข้าใจประวัติศาสตร์ การเขียน ซึ่งเป็นทางรอดของคนไทยจากยุค AI เพราะสุดท้ายแล้วเราสู้ด้วย “คน” ที่มีความรู้เหนือกว่าจะอยู่รอดในทุกยุคสมัย
นายสุชัชวีร์ กล่าวว่า เป็นไปไม่ได้เลยว่าผู้ที่เรียนหลักสูตรวิศวกรรม วิทยาศาสตร์ และแพทย์ จะไม่ต้องเรียนรู้ประวัติศาสตร์ สังคม รวมไปถึงการสื่อสาร แล้วผู้ที่เรียนสื่อสารมวลชน จะไม่สนใจเกี่ยวกับเรื่องคอมพิวเตอร์ Data และ AI ทุกอย่างต้องเดินไปควบคู่กัน การพัฒนาหลักสูตรการศึกษาให้เท่าทันการพัฒนาและเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วของเทคโนโลยีเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่ง ดังนั้นทุกภาคส่วนจึงจำเป็นต้องมีส่วนร่วม
อนาคตภาษาที่มีอยู่กว่า 200 ภาษา อาจจะไม่มีเลย มีเพียงภาษาเดียวที่คนทั่วโลกจะเข้าใจตรงกัน เป็นภาษาสากล คือ ภาษาคณิตศาสตร์ ซึ่งจะไม่มีทางสูญหายไปจากจักรวาล
เปลี่ยน“ยูสเซอร์” เป็น"คนคิด-เขียนโปรแกรม"
ผศ.ณรงค์เดช กีรติพรานนท์ คณบดีวิทยาลัยนวัตกรรมด้านเทคโนโลยีและวิศวกรรมศาสตร์ (CITE) มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ กล่าวว่า จากเป็นเพียงผู้ใช้งาน (User) อาจถึงเวลาแล้วที่เด็กหรือคนรุ่นใหม่ควรจะได้เรียนรู้วิธีสั่งให้คอมพิวเตอร์ทำงานในสิ่งที่ต้องการ โรงเรียนอาจเป็นจุดเริ่มต้นในการสร้างความเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้น เพื่อให้สอดคล้องกับเทคโนโลยีที่กำลังก้าวไปข้างหน้าในขณะนี้
สอดคล้องกับที่ ล่าสุด กระทรวงศึกษาธิการ ได้พยายามจะปรับหลักสูตรการเรียนให้มีความทันสมัยมากขึ้น ในชื่อวิชา วิทยาการคำนวณ เป็นวิชาบังคับในหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ.2551 (ฉบับปรับปรุง พ.ศ.2560) โดยเริ่มเรียนกันตั้งแต่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ไปจนถึงมัธยมศึกษาปีที่ 6 ซึ่งมีผลกับนักเรียน ป.1, ป.4, ม.1 และ ม.4 เริ่มปีการศึกษานี้เป็นรุ่นแรก
วิทยาการคำนวณ จะถูกปรับเนื้อหาให้เหมาะสมกับแต่ละช่วงระดับ ไม่ใช่ว่า เรียน ป.1 จะต้องเขียนโปรแกรมเลย ป.1 จะมีการเรียนรู้การจัดลำดับอย่างเป็นระบบ 1 ต้องมาก่อน 2 และถึงจะเป็น 3 ซึ่งจะเป็นเขียนโปรแกรมแบบไม่ต้องใช้คอมพิวเตอร์
ในระดับ ป.3 และ ป.4 การเขียนเรียนจะซับซ้อนมากขึ้นและต้องจัดลำดับความคิดที่ยากขึ้น มีการเขียนลำดับขั้นตอนการทำงาน (Flowchart) เรียนรู้กระบวนการขั้นตอนการทำงานของ อัลกอริทึม (Algorithm) ต่างๆ ในระดับมัธยมศึกษาจะเริ่มมีการเขียนโปรแกรม ตั้งแต่ชั้น ม.1 และ ม.4 เริ่มเรียนรู้ในสิ่งที่ยากขึ้น โดยจะเน้นไปที่การบูรณาการองค์ความรู้ เช่น ทำโครงงาน
หลักสูตรวิทยาการคำนวณ จะสอนให้เด็กคิดอย่างเป็นระบบมากขึ้น ก่อนที่นำไปสู่การฝึกให้เกิดการลงมือทำ จนนำไปสู่การประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน ต่อยอด กลายเป็น ผู้คิด ผู้เขียน ผู้พัฒนา ในอนาคต
ผศ.ณรงค์เดช กล่าวว่า ไม่จำเป็นว่าทุกคนที่เรียนจะต้องไปเป็นคนเขียนโปรแกรม หรือโปรแกรมเมอร์ แต่เป็นการเพิ่มทักษะคิดเชิงคำนวณ สำหรับแก้ปัญหาในชีวิตประจำวัน เข้าใจการทำงานของระบบอัตโนมัติ มีความรู้ที่จะควบคุมระบบอัตโนมัติเบื้องต้นได้ ซึ่งทักษะเหล่านี้จะสามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้ ไม่ว่าจะเรียน สายวิทยาศาสตร์ หรือ สายศิลป์ ก็ตาม
ปั้นบุคลากรตรงความต้องการตลาด
ผศ.ณรงค์เดช กล่าวเพิ่มเติมว่า ตลาดงานไอที โปรแกรมเมอร์ โดยเฉพาะสายซอฟต์แวร์ มีความต้องการบุคลากรอย่างมาก เช่นการเขียนซอฟต์แวร์ ดูแลลูกค้าในแผนก customer service การพัฒนาการขนส่งอัจฉริยะ ซึ่งต้องการคนอย่างมาก บุคลากรในสายนี้ภาพรวมผลิตได้ปีละ 10,000 คน อาจจะอยู่ในสายงานนี้ครึ่งหนึ่ง แต่ที่ทำได้จริงแค่ 2,000 คน โดยเฉพาะ AI Machine Learning ที่ขาดแคลนอย่างมาก
หากพิจารณาโครงการ ECC ที่รัฐบาลเดินหน้าอยู่ ซึ่งเป็นโครงการขนาดใหญ่จะมีการจ้างงานอีก 2-3 แสนตำแหน่ง และต้องการแรงงานที่มีทักษะขั้นสูงอย่างน้อย 10,000 คนต่อปี ซึ่งหากเทียบกับปริมาณที่มหาวิทยาลัยผลิตได้ ยังมีตลาดที่เปิดกว้างอย่างมาก
ไทยยังขาดวิศวกรระบบ SI (System Indicator)
ด้าน นายธนารักษ์ ธีระมั่นคง อาจารย์ประจำภาควิชาเทคโนโลยีสารสนเทศ คอมพิวเตอร์และการสื่อสาร สถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และนายกสมาคมปัญญาประดิษฐ์ประเทศไทย กล่าวว่า ประเทศไทยยังขาดการศึกษาระบบ หรือ (System Education) ซึ่งก็คือ ผู้ที่วางแผนแผนและนำเครื่องมือต่างๆ มาใช้ทำงานร่วมกัน เมืองไทยอาจจะเก่งในการแยกส่วนในการทำแต่ละอย่างแต่ยังไม่มี (System Indicator) อาชีพนี้จึงถือเป็นอาชีพที่น่าสนใจ
ในประเทศไทยยังมีน้อย ส่วนใหญ่จะเป็นวิศวกรต่างชาติ เช่น ระบบรถไฟฟ้า ก็พยายามผลิตระบบกลุ่มของ SI ให้เยอะเราอาจมีผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเยอะแต่ที่เป็นปัญหาคือผู้ที่จะนำมารวมกัน