ในบันทึกบัตรสนเท่ห์ อ้างถึงความร่ำรวย อย่างผิดปกติ ของพระพรหมสุธี (เสนาะ ปญฺญาวชิโร) ซึ่งถูกกล่าวหาโดยพระพรหมสิทธิ (ธงชัย สุขญาโณ) ทั้งเรื่องการให้ตอบคำถามข้อสงสัย ต่อสังคมในประเด็น รถหรูไม่น้อยกว่า 20 คัน การทำธุรกิจสวนกล้วยไม้ กว่า 300 ไร่ มูลค่ากว่า 100 ล้านบาท การทำธุรกิจปล่อยเงินกู้แก่เจ้าอาวาสวัดต่างๆ ธุรกิจสวนผลไม้มะยิงชิด และยังมีกิจการเพาะพันธุ์ไก่ชน เพาะพันธุ์ปลากัด ฯลฯ
แต่บัตรสนเท่ห์ ซึ่งอาจได้เรียกว่า เป็นจุดแตกหัก อาจไม่ใช่จุดเริ่มต้นของความขุ่นข้องหมองใจ เรื่องราวเขม่น ขัดแข้งขัดขา เด่นชัดตั้งแต่ในช่วงอาพาธ ของสมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสโณ) จนถึงเมื่อถึงคราวจัดงานศพ สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสโณ)
เรื่องเล่าถึงความคับข้องใจอย่างไม่เป็นทางการ เมื่อครั้ง จัดงานศพสมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสโณ) พระพรหมสุธี (เสนาะ ปญฺญาวชิโร) ได้นั่งเป็นเจ้าอาวาส ในศาลาตั้งศพ แต่พระพรหมสิทธิ (ธงชัย สุขญาโณ) ต้องนั่งอยู่ในเต็นท์ด้านนอกศาลา
เรื่องเล่า จากบันทึกในบัตรสนเท่ห์ ยังได้อ้างถึง ช่วงของการถวายผลไม้ และเครื่องสังฆทาน ในงานวันทำบุญหลังจัดงาน 7 วัน ซึ่งมีการจัดหาเครื่องทำบุญสังฆทานจากร้านสังฆภัณฑ์ ราคาครั้งละ สูงถึงแสนบาท
แต่ข้อหากล่าวหา ที่น่าเข้มข้นมากที่สุด จนนำไปสู่การสอบสวน ทั้งการตรวจสอบจากสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน และสังคมของสงฆ์ ในช่วงเวลานั้น คือ ความไม่โปร่งใสการบริหารจัดการงบประมาณศพสมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสโณ) ที่รัฐบาลอนุมัติ และการจัดซื้อโต๊ะหมู่บูชา ในงานพระราชทานเพลิงศพ มูลค่า 67 ล้านบาท
สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน ในขณะนั้น อ้างถึงการตรวจพบความผิดปกติ เบิกจ่ายงบประมาณ มีหนังสือแจ้งในทางลับ ถึง 3 ฉบับ ไปถึงผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช ในขณะนั้น นำไปสู่คำสั่งสะเทือนวงการสงฆ์ เมื่อวันที่ 14 มกราคม 2558 สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ (ช่วง วรปุญฺโญ) ในฐานะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช ลงนามในพระบัญชา สั่งปลดพระพรหมสุธี (เสนาะ ปญฺญาวชิโร) ออกจากตำแหน่งมหาเถรสมาคม ถูกสั่งพักงานในตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดสระเกศราชวรมหาวิหาร สั่งให้พ้นจากตำแหน่งเจ้าคณะภาค 12 ปลดจากตำแหน่งประธานสำนักงานกำกับดูแลพระธรรมทูตไปต่างประเทศ
ในเวลาต่อมา พระพรหมดิลก (เอื้อน หาสธมโม) เจ้าคณะกรุงเทพมหานคร จึงได้แต่งตั้งพระพรหมสิทธิ (ธงชัย สุขญาโณ) ขึ้นรับตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดสระเกศราชวรมหาวิหาร
การสอบสวนของสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน จากข้ออ้างถึงจากผู้ว่าการ การตรวจเงินผ่นดินเปิดเผยว่าเมื่อ เดือนมกราคม ปี 2558 การสอบสวนช่วงแรก พระพรหมสุธี (เสนาะ ปญฺญาวชิโร) ไม่ค่อยให้ความร่วมมือนัก แต่ก็ได้รับความร่วมมือมากขึ้น เมื่อ สตง.ต้องรายงานการสอบสวนไปยังประธานกรรมการมหาเถรสมาคม
ความตอนหนึ่งถึงจากการสอบสวน พระพรหมสุธี (เสนาะ ปญฺญาวชิโร) ยอมรับว่าธุรกิจที่ถูกอ้างถึง เป็นธุรกิจของครอบครัวที่มีอยู่เดิม แต่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกัน ส่วนทรัพย์สิน เช่น รถยนต์ราคาแพงกว่า 20 คัน ได้มาโดยการบริจาคของลูกศิษย์ ส่วนใหญ่ก็นำไปใช้ในกิจการของวัด และปฏิเสธไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับธุรกิจรีสอร์ท หรือบ้านจัดสรร ระหว่างการสอบสวนที่ยังไม่ยุติ แต่แล้วเรื่องราวที่คาดไม่ถึงก็เกิดขึ้น
พระพรหมสุธี (เสนาะ ปญฺญาวชิโร) กระทำ “อัตวินิบาตกรรม” ด้วยการใช้ “ประคดผูกคอตาย”
เมื่อวันที่ 25 มกราคม 2559 ภายในกุฎิ วัดสระเกศราชวรมหาวิหาร
อ่านเพิ่มเติม
http://news.thaipbs.or.th/content/272503