ผ่านการตรวจสอบการทุจริตเงินทอนวัด 3 ล็อต จนนำไปสู่การจับกุมพระเถระชั้นผู้ใหญ่ที่อาจมีส่วนเกี่ยวข้องกับการทุจริต จึงเป็นที่มาของการวิพากษ์วงการสงฆ์จากมุมมองของ อาจารย์ สุลักษณ์ ศิวรักษ์ นักวิชาการอิสระ ด้วยมุมมองของฆราวาสที่มีต่อพระพุทธศาสนาผ่านเว็บไซต์ไทยพีบีเอส
"พระต่างกันกับเราคือเรื่องเงิน เราเป็นฆราวาส เราอยากจะเอาอย่างพระก็ได้ เราเหมือนพระไม่ได้อย่างเดียวคือศีลข้อ 10 คือ ชาตะรูปะระชะตะฯ แตะต้องเงินทองไม่ได้เลย เพราะพระพุทธเจ้าตั้งคณะสงฆ์เป็นตัวอย่างฆราวาส มีภราดรภาพเหมือนกันหมด รักกันเหมือนพี่น้อง มีเสรีภาพจากความโลภ โกรธ หลง"
ต่อลักษณะของสังคมไทยที่เปิดโอกาสให้สงฆ์เกี่ยวข้องกับ "เงิน" อาจารย์ สุลักษณ์ มองว่า การปรับตัวของสงฆ์ต้องไม่ขัดกับพระธรรมวินัย การถือเงินเป็นนิสสัคคิยปาจิตตีย์ (แปลว่า อาบัติที่พระภิกษุผู้กระทำผิดโดยการรับของ) ซึ่งคนไทยพลาดเรื่องนี้ เพราะพระที่มีชื่อเสียงหลายรูปได้เงินมา อ้างนำไปสร้างวัด-อนุสาวรีย์ ทั้งที่เป็นความผิดและไม่ใช่การแก้ปัญหา เพราะพระแม้มีเงินเพียงบาทเดียวก็หมดความเป็นพระ เนื่องจากเงื่อนไขการปาราชิก 4 ข้อ ในข้อ 2 บัญญัติว่าการโกงเงิน ขโมยเงิน ต้องหมดความเป็นพระ แต่สังคมไทยกลับละเลยเรื่องนี้
ทั้งนี้ อาจารย์ สุลักษณ์ เสนอทางออกเรื่องพระถือเงิน ว่า ควรออก พ.ร.บ. เกี่ยวกับเงินวัดที่ชัดเจน เพื่อจำแนกเงินทำบุญวัด การจัดทำบัญชี การหักลดหย่อนภาษีของผู้ทำบุญ และการเก็บภาษีจากเงินที่ผ่านบัญชีธนาคาร เป็นต้น เพราะสงฆ์ต้องโปร่งใสตรวจสอบได้
เส้นแบ่งความเป็นฆราวาสและสงฆ์ มีส่วนที่ทำให้การตรวจสอบยากขึ้น ? อาจารย์ สุลักษณ์ ตอบว่า " คือเราถูกสอนมาชั่วช่างชี ดีช่างสงฆ์ มันไม่ได้ครับ ทุกอย่างต้องตรวจสอบได้ การตรวจสอบไม่ใช่ของใหม่ มีตั้งแต่สมัยโบราณ
“ชาวบ้านต้องตรวจสอบพระ ไม่ใช่ถวายเฉพาะปัจจัย ถวายอาหาร บิณฑบาตต้องถวายคำแนะนำตักเตือนด้วย เป็นกัลยาณมิตรกับพระ พระพุทธเจ้าตรัสสอน ว่า สิ่งสำคัญที่สุดคือกัลยาณมิตร กล้าพูดในสิ่งที่ไม่อยากฟัง พระหลายองค์ไม่อยากฟัง พอเป็นสมเด็จฯ ทำตัวเป็นเจ้า รับนิมนต์ไป (ฆราวาส)ต้องถวายเป็นแสนเลย เงินไปไหนครับ”
“เราต้องกลับมาสำนึก พอห่มเหลืองแล้วเราไหว้กราบกันเป็นแถวเลย คนดีห่มเหลืองควรเคารพนับถือ ถ้าคนชั่วห่มเหลืองอันนี้เป็นโจร ต้องไม่นับถือ อย่าไปนับถือผ้าเหลือง คนไทยนับถือผ้าเหลืองมากเกินไป”
นอกจากนี้ อาจารย์ สุลักษณ์ เชื่อว่าเป็นความเข้าใจผิดของคนรุ่นหลัง ที่คิดว่าวัดเป็นอุดมคติจนไม่กล้าตักเตือนสงฆ์ และรู้จักสงฆ์เฉพาะเรื่องพิธีกรรม ทั้งที่พระพุทธเจ้าเคยเตือนว่าสงฆ์ต้องไม่ใช่พราหมณ์ที่เป็นเจ้าพิธี แต่ปัจจุบันพระเป็นเจ้าพิธีปลุกเสกสารพัด ซึ่งประเทศไทยมีพระเครื่องมากที่สุดในโลก และคนไทยสร้างพระพุทธรูปมากที่สุด แต่กลับไม่สร้างพระรุ่นใหม่ที่มีคุณค่า โดยเวลานี้พระลดลงทั้งประมาณและคุณภาพ แต่มีสงฆ์ไม่มากที่จะหลุดจากระบบสงฆ์ทั่วไป เช่น พระไพศาลวิสาโล เป็นต้น ที่ปฏิบัติธรรมอยู่กับป่าและไม่ถือเงิน เป็นต้น
เปรียบเทียบอดีตกับปัจจุบัน การประพฤติตนของสงฆ์ที่ขัดกับพระธรรมวินัยมีมาโดยตลอด ?
“ต้องเข้าใจว่า ปัจจุบันมีทุนนิยม มีบริโภคนิยมเข้ามาเป็นศาสนาใหม่ ไม่ว่าพระหรือไม่ว่าใครจะนับถือทุนนิยม-บริโภคนิยมหมด อาจารย์พุทธทาสภิกขุ (พระธรรมโกศาจารย์) จึงบอกว่าอันตรายของเรา คือ กิน กาม เกียรติ เพราะพระโดยสถานะควรจะกินน้อยกว่าเรา พระหัวหน้าวัดธรรมกาย ไม่รู้ฉันสองหรือสามมื้อ แต่อาหาร โอ้โห ฟุ่มเฟือยฟุ้งเฟ้อ เห็นไหมครับเรื่องกินอย่างเดียวเท่านั้นเอง ขณะที่สมเด็จพระพุฒจารย์ (โต พรหมรังสี) คนถวายของ ท่านเอาใบตำแยใส่เลยก่อนฉัน เพื่อเตือนตัวไม่ให้ติดอาหาร ส่วนเรื่องกามสำคัญเลย เรานับถือพระเพราะท่านลดเรื่องกาม เรื่องเกียรติเหมือนกัน ตอนนี้พระอยากเป็นเจ้าคุณ อยากเป็นสมเด็จ เสร็จเลยครับ เดี๋ยวนี้พระหลงยศเห่อเหิม เป็นสมเด็จแล้วทำตัวเป็นกับเจ้าเลยครับ บางทีนิมนต์นั่งแท็กซี่ไปไม่ได้ต้องมีรถส่วนตัวไปรับ”
อาจารย์สุลักษณ์สรุปว่า เงินเป็นปัจจัยหลักที่นำไปสู่อันตรายของสงฆ์ และเน้นย้ำว่าพระต้องไม่ยุ่งเกี่ยวกับเงิน โดยปรับปรุงกฎหมายใหม่ และยึด พ.ร.บ. คณะสงฆ์ ปี 2584 เป็นหลัก พร้อมกับปรับปรุงการศึกษาของคณะสงฆ์ ตามหลักการเปลี่ยนความโลภเป็นทาน เปลี่ยนความโกรธเกียดเป็นเมตตา และเปลี่ยนความหลงเป็นปัญหา รวมถึงยึดมั่นในหลัก ไตรสิกขา ที่เป็นหัวใจของพุทธ (1.อธิสีลสิกขา คือ ศึกษาศีล 2.อธิจิตตสิกขา คือศึกษาเรื่องจิต อบรมจิตให้สงบมั่นคงเป็นสมาธิ และ 3.อธิปัญญาสิกขา คือศึกษาเรื่องปัญญาอบรมตนให้เกิดปัญญา)
“หลักการศึกษา คุณบวชมา พระอุปชาต้องดูแลอย่างน้อย 5 ปี เปลี่ยนนิสัยฆราวาสจนเป็นพระ การบวชอยู่วัด วัดเป็นอารามที่มีต้นไม้ เดี๋ยวนี้ลานวัดเป็นลาดจอดรถเพราะเงินมีอำนาจ”
“เดี๋ยวนี้วัดไม่ต่างจากบ้าน ต้องปรับปรุง พระต้องต่างจากฆราวาส อะไรประเทืองกิเลสต้องเอาออกไป โทรทัศน์มีไม่ได้เลย เก็บเงินทองไม่ได้เลย ถามสิว่ารัฐบาลจะกล้าทำสิ่งเหล่านี้รึเปล่า”
“สุลักษณ์” ชี้การรวมอำนาจพระชั้นผู้ใหญ่ ต้นเหตุทุจริตวงการสงฆ์
เมื่อพิจารณาโครงสร้างสงฆ์ในองค์รวม โดยเฉพาะการปกครองภายใต้มหาเถระสมาคม อาจารย์ สุลักษณ์ มองว่า โครงมหาเถรสมาคมที่เกิดจากกฎหมายปี 2505 ในยุคของ จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ จึงเป็นเผด็จการ ทั้งที่ก่อนหน้านั้นการประชุมของคณะสงฆ์ เป็นเพียงการถวายข้อเสนอให้พระมหากษัตริย์ทรงใช้พระราชวินิจฉัย และเป็นคณะสงฆ์ที่เคร่งครัดในเรื่องพระธรรมวินัย ขณะที่ปัจจุบันคณะสงฆ์มีความเกี่ยวข้องกับเรื่องทางโลกมากขึ้น
“เรื่องสมณศักดิ์ผมไม่อยากพูด ติดสินบนกันเป็นล้านๆ ติดสินบนเรื่องสมณศักดิ์ไม่ต่างจากตำรวจติดสินบนเป็นนายพล สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เสงี่ยม จนุทสิริ) สมเด็จพระราชาคณะฝ่ายมหานิกาย เจ้าอาวาสวัดสุทัศนเทพวรารามราชวรมหาวิหาร (มรณภาพแล้ว) ท่านพูดกับผมว่า หนังสือพิมพ์บอกว่าสถาบันที่เลวมี 2 สถาบัน 1. คือตำรวจ และ 2. คือสถาบันพระ ท่านบอกว่าจริงของมัน เพราะพระเดี๋ยวนี้เลวยิ่งกว่าตำรวจ ผมบอกกับท่านว่า ใต้เท้าเป็นกรรมการมหาเถรสมาคม และเป็นเจ้าอาวาสวัดสุทัศน์ ทำไมไม่แก้ไข ท่านบอกว่าจะให้ทำอะไร ฉันแก่แล้ว และแต่ละคณะเป็นอิสระต่อกัน”
อาจารย์สุลักษณ์ยังมองว่า การรวมอำนาจพระชั้นผู้ใหญ่ เช่น พระชั้นเจ้าคุณอยู่แต่วัดใหญ่ในกรุงเทพมหานคร แต่ไม่มีการกระจายอำนาจไปยังหัวเมืองต่างจังหวัด เป็นการสร้างความพันธ์ใกล้ชิดของพระจนไม่มีการตรวจสอบ
การรวบอำนาจของสงฆ์เป็นปัญหาอย่างไร ? “มีสิ เพราะท่านเหล่านี้ต้องเป็นใจกัน ไม่รู้เรื่องทางโลกเลยแล้วได้ยศก็หยิ่ง นึกว่าตัวเองใหญ่ คนมากราบมาไหว้ยิ่งไปใหญ่ เพราะไม่มีใครกล้าเตือนท่าน ต้องเตือนท่านครับ”
“สุลักษณ์” เชื่อ พระเถรชั้นผู้ใหญ่เอี่ยวคดีเงินทอนวัด ยากกลับสู่ร่มกาสาวพัสตร์
เปรียบเทียบการตรวจสอบคณะสงฆ์ในรอบ 60 ปี กรณี พระพิมลธรรม เป็นหนึ่งในกรณีที่ถูกหยิบยกมาเทียบกับกรณีทุจริตเงินทอนวัด เพราะพระพิมลธรรมเคยถูกจับสึก แต่ไม่ยอมเปล่งลาสิกขา ซึ่งเมื่อพ้นข้อกล่าวหา พระพิมลธรรมได้กลับสู่ร่มกาสาวพัสตร์และได้คืนสมณศักดิ์ รวมถึงสถาปนาเป็นสมเด็จพระพุฒาจารย์ (อาจ อาสโภ) แต่ อาจารย์สุลักษณ์มองว่า กรณีของพระพิมิลธรรมไม่เหมือนกับกรณีพระชั้นผู้ใหญ่ที่ถูกปาราชิกจากคดีเงินทอนวัด เพราะพระพิมลธรรมมีบทบาทต่อวงการสงฆ์สูงมาก แม้ถูกขัง 5 ปี แต่สุดท้ายชนะศาลทหาร ซึ่งระหว่างที่ถูกสึกก็ยังห่มขาวและเจริญสมณธรรม จนตำรวจในโรงพักกราบไหว้ เมื่อชนะคดีแล้วคณะสงฆ์ก็ยอมรับการเป็นพระของท่าน และการกลับสู่สมณศักดิ์ไม่ได้มาโดยง่าย แต่ด้วยบารมีจึงสามารถมีบทบาทอีกครั้ง ขณะที่ สงฆ์ที่ถูกปาราชิกขณะนี้ แม้จะเป็นสมณศักดิ์ชั้นพรหม แต่บริบทของเหตุการณ์แตกต่างกัน โดยเฉพาะจำนวนพระเถระชั้นผู้ใหญ่ที่เพิ่มขึ้น จึงทำให้ความสำคัญต่างกันด้วย อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาถึงการต่อสู้ในกระบวนการยุติธรรม ทุกคนควรต่อสู้เพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์
“แต่อย่าลืมความเป็นพระค่าตัวเพียงบาทเดียว โกงเงินเขาบาทเดียวปาราชิก กลับมาบวชไม่ได้ อย่างวัดสระเกศ จับตัวไม่ได้ ในห้องมีสมุดบัญชีเงินฝากอยู่กี่ร้อยล้าน เพียงเท่านี้ก็หมดความเป็นพระ อย่างน้อยต้องเอาเงินนี้โยนทิ้งหมดถึงจะปลงอาบัติตก มันไม่ยาก เล่นทางธรรมวินัยก็แย่แล้ว ไม่ต้องพูดถึงกฎหมาย”