วันนี้ (16 พ.ค.2561) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า “ยาลดความอ้วน” สามารถหาซื้อได้ง่ายผ่านอินเทอร์เน็ต โดยเมื่อปี 2560 กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ได้แจ้งเตือนภัยผลิตภัณฑ์อาหารเสริมอันตราย 20 ยี่ห้อ ที่พบว่า มีสารอันตรายที่ชื่อว่า “ไซบูทรามีน” เป็นส่วนผสม ขณะที่อย.พบสารไซบูทรามีนในผลิตภัณฑ์ ยี่ห้อ ลีน เมื่อช่วงเดือน มี.ค.ที่ผ่านมา และผลการชันสูตรจากแพทย์ ยืนยันว่า "ลีน" ทำให้ผู้บริโภคเสียชีวิต

ข้อมูลจากภาควิชาเภสัชวิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ระบุว่า สารไซบูทรามีน มีลักษณะเป็นผงขาวคล้ายเกลือหรือน้ำตาล ไม่มีกลิ่น ออกฤทธิ์ต่อระบบประสาทส่วนกลาง ทำให้ผู้บริโภคลดความอยากอาหารและรู้สึกอิ่มเร็ว โดยในปี 2540 องค์การอาหารและยาสหรัฐอเมริกาได้จัดสารไซบูทรามีนนี้เป็นยาที่ได้รับการควบคุมดูแลเป็นพิเศษและแพทย์ต้องเป็นผู้พิจารณาในการใช้ยาเท่านั้น โดยใช้ในการรักษาโรคอ้วนพร้อมกับการออกกำลังกายและควบคุมน้ำหนัก ช่วยให้ผู้ป่วยน้ำหนักลดลงร้อยละ 5-10
ขณะที่ในปี 2553 มีการตรวจสอบพบผลข้างเคียงที่อันตราย อาจทำให้ถึงกับเสียชีวิตกะทันหัน โดยมีภาวะไตวาย ระบบทางเดินอาหารผิดปกติ และเสี่ยงเกิดโรคหัวใจขาดเลือด จึงทำให้ประเทศในแถบยุโรปประกาศยกเลิกไม่ให้ใช้สารนี้ในคนทั่วไป และนำยาไซบูทรามีนออกจากชั้นวางขายและงดจำหน่ายทันที ยาตัวนี้จึงหาซื้อไม่ได้ตามร้านทั่วไปนอกจากในตลาดมืดที่มีการลักลอบผลิต

สำหรับในประเทศไทยสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุขได้ประกาศยกเลิกสารดังกล่าวในทะเบียนตำรับยา และกำหนดให้เป็นยาควบคุมพิเศษที่ต้องสั่งจ่ายโดยแพทย์และขายได้เฉพาะในสถานพยาบาลเท่านั้น แต่เมื่อปี 2560 กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ได้แจ้งเตือนภัยผลิตภัณฑ์อาหารเสริมอันตราย 20 ยี่ห้อ โดยพบว่า มีสารไซบูทรามีนผสมอยู่ ซึ่งผลิตภัณฑ์เหล่านั้นถือเป็นอาหารไม่บริสุทธิ์ ผู้ใดผลิต นำเข้าเพื่อจำหน่าย หรือจำหน่ายอาหารไม่บริสุทธิ์ จะมีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ความอันตรายของสารไซบูทรามีน แสดงออกผ่านผลข้างเคียงของผู้บริโภค โดยจะมีอาการปากแห้ง คอแห้ง ท้องผูก ปวดศีรษะ นอนไม่หลับ มีอาการใจสั่น ความดันโลหิตสูงกล้ามเนื้อกระตุก รวมไปถึงสภาพจิตใจเปลี่ยนแปลง เช่น ซึมเศร้า กังวล หวาดระแวง และอาจนำไปสู่การเสียชีวิต อย่างกรณีผู้บริโภคอาหารเสริมลีนแล้วเสียชีวิตไป 3 คน เมื่อช่วงต้นปี 2561 ผลการชันสูตรจากแพทย์ พบว่าผู้เสียชีวิตใน จ.กาญจนบุรี เสียชีวิตเนื่องจากภาวะแทรกซ้อนจากสารไซบูทรามีน ที่อยู่ในผลิตภัณฑ์ยี่ห้อ "ลีน"

ความสะดวกสบายในการเลือกซื้อผลิตภัณฑ์อาหารเสริมหรือยาลดความอ้วนเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่องท่ามกลางการเข้าถึงโซเชียลมีเดียร์ต่างๆ จนทำให้การตรวจสอบและควบคุมผลิตภัณฑ์เหล่านี้เป็นเรื่องยากมากขึ้นเรื่อย ๆ หากผู้ผลิตและจำหน่ายยังคงผสมสารอันตราย "ไซบูทรามีน" ส่วนผู้บริโภคต้องการลดน้ำหนักโดยไม่ได้ตรวจสอบผลิตภัณฑ์โดยละเอียด ผู้เสียชีวิตจากผลิตภัณฑ์ยี่ห้อ "ลีน" อาจไม่ใช่เหยื่อรายสุดท้ายที่ต้องจบชีวิตลงด้วย "ยาลดความอ้วน"
อ่านข่าวเพิ่มเติม
อย.สรุปแล้วผลตรวจลีนพบใส่สารอันตราย "ไซบูทรามีน"
อย.ดีเดีย์ 1 มิ.ย. ตรวจโรงงานเครื่องสำอางทั่วประเทศเกือบหมื่นแห่ง