ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

The EXIT : วิบากกรรมผู้ลี้ภัยชาวซีเรียในแผ่นดินไทย

สังคม
10 พ.ค. 61
15:00
2,970
Logo Thai PBS
The EXIT : วิบากกรรมผู้ลี้ภัยชาวซีเรียในแผ่นดินไทย
เสียงสะท้อนของชาวซีเรีย ที่ลี้ภัยสงครามมาอยู่ในประเทศไทยมากกว่า 4 ปี ยอมรับรู้สึกปลอดภัย แต่ยังต้องอยู่แบบหลบซ่อน พร้อมรอคอยความหวังที่สร้างชีวิตใหม่
หนูอยากให้สงครามยุติลง

เป็นเสียงของเด็กหญิงชาวซีเรียวัย 9 ขวบที่ลี้ภัยอยู่ในประเทศไทยมากว่า 4 ปีบอกกับทีมข่าว The EXIT เธอและครอบครัวให้ข้อมูลโดยไม่ขอเปิดเผยชื่อจริงเพื่อความปลอดภัย

เราได้พูดคุยกับเธอหลังจากเหตุการณ์ที่สหรัฐอเมริกาและประเทศพันธมิตรยิงขีปนาวุธถล่มซีเรีย หลังสงสัยว่ารัฐบาลซีเรียใช้อาวุธเคมีโจมตีพลเมืองตัวเองในเมืองดูมา ในเขตกูตาตะวันออกของซีเรียระลอกล่าสุด จนมีเสียชีวิตกว่า 60 คน เธอและครอบครัวเดินทางมากรุงเทพมหานคร หลังกรุงดามัสกัส เมืองหลวงของซีเรียถูกระเบิดถล่มจากรัฐบาลซีเรียเมื่อปี 2557

บ้านและโรงเรียนหายวับไปกับตา หนูคิดถึงโรงเรียน คิดถึงเพื่อนมาก

เธอกล่าวด้วยเสียงสั่นเครือ ตอนนี้เธอและพี่ชายวัย 14 ปีไม่ได้เรียนหนังสือ พวกเขาจึงเรียนด้วยตัวเองในอะพาร์ตเมนต์แห่งหนึ่งที่มีความกว้างประมาณ 30 ตารางวา

 

แม้องค์การข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ หรือ UNHCR ประจำประเทศไทยจะหาโรงเรียนให้พวกเขา แต่โรงเรียนก็อยู่ไกลและใช้ภาษาไทยในการสอน ทำให้พวกเขาไม่ได้ไปโรงเรียน

ถ้าพวกเราเข้าเรียนโรงเรียนนานาชาติ พ่อแม่ก็ไม่มีเงิน พวกผมจึงพยายามเรียนด้วยตัวเอง แม้ว่าการอยู่บ้านจะน่าเบื่อ แต่พวกเราก็ไม่มีเงินไปโรงเรียนแพงๆ

เด็กชายบอกถึงความฝันว่า "โตขึ้นอยากจะเป็นวิศวกรเหมือนพ่อ" แม้ชีวิตในห้องเล็กๆ แห่งนี้จะไร้ชีวิตชีวา แต่ก็เขาบอกว่า “ผมรู้สึกปลอดภัยกว่าการอยู่ในซีเรีย เพราะเห็นแต่ศพและได้ยินแต่เสียงระเบิด”

ชาวซีเรียครอบครัวนี้เข้าเมืองมาด้วยวีซ่าท่องเที่ยวและติดต่อกับ UNHCR ประจำประเทศไทยเพื่อขอสถานะเป็นผู้ลี้ภัย แต่เข้าสู่ปีที่ 5 แล้วที่พวกเขายังคงเฝ้ารอการส่งต่อไปยังประเทศที่ 3 แม้ทุกคนจะถือบัตรผู้ลี้ภัยที่ UNHCR ออกให้ แต่ก็ต้องอยู่แบบหลบซ่อน เพราะถือเป็นบุคคลที่หลบหนีเข้าเมือง

ผมต้องไปรายงานกับ UNHCR ทุกสองสัปดาห์ อย่างน้อยก็เพื่อถามความคืบหน้าในการส่งตัวไปประเทศอื่น ที่ผมเองก็ไม่รู้เหมือนกันว่า จะได้ไปประเทศไหน แต่พวกเราไม่ได้อยากอยู่เมืองไทย

แม้ความหวังการส่งต่อไปยังประเทศที่ 3 จะริบหรี่ลง แต่หัวหน้าครอบครัวก็บอกว่า พวกเขายังรอคอยความหวังที่จะได้ไปสร้างชีวิตใหม่

“ผมเคยมีงานทำ มีบ้านหลังใหญ่ มีครอบครัวที่อบอุ่น แต่สงครามก็ทำให้ทุกอย่างพังลง วันที่บ้านถูกระเบิดถล่ม ผมต้องพาครอบครัวหนีเอาตัวรอด ผมติดต่อสถานทูตหลายแห่ง ทั้งอียิปต์ อิหร่าน และหลายประเทศ แต่ไม่มีประเทศไหนให้วีซ่าผมเลย มีประเทศไทยประเทศเดียวเท่านั้น ผมจึงต้องขอบคุณสถานทูตไทยมากที่ทำให้พวกเรามีชีวิตรอด” หัวหน้าครอบครัวเล่า

ขายอาหารศูนย์กลางอิสลาม

ทุกเช้าวันศุกร์เขาและครอบครัวนำอาหารทำเองมาขายที่ห้องโถงของมูลนิธิเพื่อศูนย์กลางอิสลามแห่งประเทศไทย เพราะเงินช่วยเหลือที่ได้รับจาก UNHCR เดือนละ 1,500 บาทต่อครอบครัว ไม่เพียงพอกับค่าใช้จ่าย

รายได้จากการขยอาหารหลังหักค่าใช้จ่าย จะเหลือประมาณ 1,500 ต่อสัปดาห์ ทำให้หัวหน้าครอบครัวกังวลถึงความเป็นอยู่มากขึ้น เพราะเมื่อ 4 เดือนที่แล้วน้องสะใภ้และลูกของเธออีก 2 คน ได้หนีภัยสงครามมาอยู่ด้วย หลังสามีเสียชีวิตเพราะถูกกองกำลัง IS ยิงเสียชีวิต

UNHCR จี้รัฐบาลไทยรับรองสถานะผู้ลี้ภัย

น.ส.ฮันนา แมคโดนัล เจ้าหน้าที่ UNHCR ประจำประเทศไทย บอกว่า ตอนนี้มีผู้ลี้ภัยอยู่ในความดูแลกว่า 6,100 คน จาก 40 ประเทศ ในจำนวนนี้มีชาวซีเรียรวมอยู่ด้วย ผู้ลี้ภัยทุกคนเจอปัญหาเดียวกันคือ รัฐบาลไทยไม่รับรองสถานะเป็นผู้ลี้ภัยตามอนุสัญญาว่าด้วยผู้ลี้ภัยปี ค.ศ. 1951 ทำให้พวกเขาไม่ได้รับสิทธิของการเป็นผู้ลี้ภัยทั่วไป

UNHCR สามารถส่งตัวผู้ลี้ภัยไปยังประเทศอื่นได้เพียงปีละ 1% เท่านั้น การพยายามให้ผู้ลี้ภัยได้รับสถานะตามอนุสัญญาว่าด้วยผู้ลี้ภัย เป็นสิ่งที่องค์กรเอกชนหลายแห่งพยายามร่วมกันผลักดัน เช่นองค์กรแอมเนสตี้อินเตอร์เนชันแนลประจำประเทศไทย

น.ส.ปิยนุช โคตรสาร ผู้อำนวยการองค์กรแอมเนสตี้ฯ กล่าวว่า รัฐบาลไทยควรลงนามในอนุสัญญาฉบับนี้เพื่อให้ผู้ลี้ภัยมีความความปลอดภัยในชีวิตก่อนจะถูกส่งไปยังประเทศที่ 3

“ไม่มีใครอยากหนีจากบ้านเกิดเมืองนอนมาอยู่ต่างประเทศ หากมองในแง่สิทธิ์เขาควรได้รับสิทธิตามอนุสัญญาผู้ลี้ภัย คือ มีความปลอดภัย ไม่ควรถูกส่งตัวกลับไปยังประเทศต้นทาง อยากให้คนไทยมองว่า ผู้ลี้ภัยเหล่านี้ไม่ได้ต้องการอยู่ในเมืองไทยและพวกเขาไม่ใช่บุคคลอันตราย” น.ส.ปิยนุช กล่าวทิ้งท้าย

หทัยรัตน์ พหลทัพ ผู้สื่อข่าวไทยพีบีเอส

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง