วันนี้ (24 มี.ค.2561) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เป็นเวลาเกือบ 3 เดือน ตั้งแต่เริ่มต้นปี 2561 โรคพิษสุนัขบ้าได้ระบาดไปเกือบทุกพื้นที่ทั่วประเทศไทย ผู้สื่อข่าวไทยพีบีเอสจึงได้รวบรวมผู้เสียชีวิตจากการติดเชื้อพิษสุนัขบ้าไว้ ดังนี้
25 ม.ค.2561 นางเสาวนีย์ โชคชาตรี อายุ 59 ปี ครูโรงเรียนบ้านลำชี ต.คอโค อ.เมือง จ.สุรินทร์ เสียชีวิตด้วยโรคพิษสุนัขบ้า โดยมีอาการขากรรไกรแข็ง น้ำลายฟูมปาก ถ่มน้ำลายตลอดเวลาและมีอาการกลัวน้ำ ซึ่งปกติเลี้ยงสุนัขไว้ในบ้านถึง 5 ตัว และยังชอบนำอาหารไปเลี้ยงสุนัขจรจัด
28 ก.พ.2561 มีผู้เสียชีวิตแล้ว 1 คน ในพื้นที่ ต.คอหงส์ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา จากการถูกลูกสุนัขข่วน หรือกัดแขนซ้าย แต่ไม่ได้ไปพบแพทย์ และเสียชีวิตในเวลาต่อมา
8 มี.ค.2561 นายเสน่ห์ เจ๊กจันทึก ชายวัย 41 ปี เสียชีวิตที่ อ.เสิงสาง จ.นครราชสีมา หลังถูกสุนัขที่คาดว่าจะติดเชื้อโรคพิษสุนัขบ้ากัดเมื่อวันที่ 19 ม.ค.61
11 มี.ค.2561 พบผู้เสียชีวิตจากโรคพิษสุนัขบ้าแล้ว 1 คน เป็นชาย อายุ 44 ปี ชาว ต.อ่าวตง อ.วังวิเศษ จ.ตรัง ได้รับเชื้อจากการถูกลูกสุนัขวัย 2 เดือน ที่เลี้ยงไว้กัดและข่วน
16 มี.ค.2561 พบผู้เสียชีวิตเป็นชายวัย 61 ปี ชาว อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ เสียชีวิตจากการถูกแมวกัดเมื่อ 2 เดือนที่แล้ว แต่ไม่ได้ไปรับวัคซีน
19 มี.ค.2561 เด็กหญิงวัย 14 ปี ถูกสุนัขกัดขณะที่อยู่ในขบวนรำในงานแห่ที่หมู่บ้าน ที่ต.หูทำนบ อ.ปะคำ จ.บุรีรัมย์ เมื่อช่วงเดือน ต.ค. 2560 แต่ไม่ได้ฉีดวัคซีน จนเมื่อวันที่ 15 มี.ค.ที่ผ่านมา ผู้เสียชีวิตมีไข้ กลืนน้ำลายลำบาก ไม่อยากดื่มน้ำ กระสับกระส่าย ทางบ้านจึงพาไปพบแพทย์ก่อนเสียชีวิต
ทั้งนี้ นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค (คร.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า โรคพิษสุนัขบ้าสามารถป้องกันได้ ถ้าประชาชนรู้จักการป้องกันตนเอง ดังนี้
1. อย่า 5 ย. คือ อย่าแหย่ อย่าเหยียบ อย่าแย่ง อย่าหยิบ อย่ายุ่ง กับสุนัขคนอื่น หรือสุนัขที่มีการผิดปกติ
2. เมื่อถูกสุนัข หรือแมว ข่วน หรือกัด ควรรีบล้างแผลด้วยน้ำและสบู่ทันทีหลายๆครั้ง และใส่ยาเบตาดีนหลังล้างแผลเพื่อลดการติดเชื้อโรคพิษสุนัขบ้า
3. รีบพบแพทย์โดยทันที เพื่อรับการวินิจฉัยรับวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าหากได้รับการฉีดวัคซีนแล้ว ควรไปตามนัดทุกครั้ง เพื่อการป้องกันสูงสุด
4. เมื่อถูกกัด ควรกักสุนัข แมวตัวที่กัดข่วน ไว้เพื่อสังเกตอาการ 10 วัน หากสัตว์ที่กักตายลงให้รีบแจ้งปศุสัตว์ในพื้นที่ เพื่อการส่งตรวจหาโรคพิษสุนัขบ้าในสัตว์
5. เจ้าของสุนัขเเละเเมวควรนำสัตว์เลี้ยงของท่านเข้ารับบริการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าเป็นประจำทุกปี เพื่อการป้องกันที่มีประสิทธิภาพ
อ่านข่าวเพิ่มเติม
เตือน "หมา-แมว" กัด ข่วน อย่าชะล่าใจเสี่ยง "พิษสุนัขบ้า" ถึงตาย
ตรังพบชายเสียชีวิตจาก "โรคพิษสุนัขบ้า" รายแรกของปี
ยืนยัน "แมวกัด" ต้นเหตุชายวัย 61 ตายจากพิษสุนัขบ้ารายที่ 5
ปชช.เกินครึ่งเข้าใจผิด “โรคพิษสุนัขบ้ารักษาหาย” แนะถูกกัดรีบล้างแผล-ฉีดวัคซีน