วานนี้ (15 มี.ค.2561) คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) เดินหน้าตรวจสอบข้อเท็จจริงการทุจริตเงินสงเคราะห์ผู้มีรายได้น้อยในประเภทนิคมสร้างตนเองและศูนย์พัฒนาชาวเขา
โดย พ.ต.ท.วันนพ สมจินตนากุล ผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) พร้อมคณะทำงานลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริง 2 จุด
โดยจุดแรก นิคมสร้างตนเองเชียงพิณ อ.เมือง อุดรธานี และจุดที่สองคือนิคมสร้างตนเองห้วยหลวง โดย ป.ป.ท.ได้สุ่มบันทึกสอบถามชาวบ้านในพื้นที่ไว้เป็นหลักฐาน โดยได้ลงพื้นที่ไปยังนิคมสร้างตนเองเชียงพิณ อ.เมือง จ.อุดรธานี เป็นพื้นที่แรก ซึ่งพบว่าพฤติกรรมการจ่ายเงินไม่แตกต่างจากศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่งในหลายจังหวัด คือ ปลอมเอกสาร และชาวบ้านได้รับเงินไม่ครบตามจำนวนที่ตั้งเบิก
นางเพ็ง ภูศรี ในวัย 84 ปี ชาวตำบลโคกสะอาด จ.อุดรธานี ยืนยันกับเจ้าหน้าที่ ป.ป.ท.ว่าได้รับเงินสงเคราะห์ผู้มีรายได้จากนิคมสร้างตนเองเชียงพิณ เพียง 1,000 บาท โดยก่อนหน้านี้นางเพ็ง อ้างว่ามีเจ้าหน้าที่มาบอกและให้ยืนยันว่าได้รับเงินครบ 2,000 บาท
นอกจากนี้ยังมีชาวบ้านอีกกว่า 50 คน ที่มีรายชื่อปรากฎเป็นผู้รับเงินสงเคราะห์ผู้มีรายได้น้อย ซึ่งส่วนใหญ่ให้ข้อมูลไปในทิศทางเดียวกัน โดยระบุว่า มีเจ้าหน้าที่รัฐนำสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของชาวบ้านไปพร้อมกับเซ็นชื่อรับเงินแทน แต่ชาวบ้านไม่ได้รับ หรือบางส่วนได้รับแต่ไม่ครบ เช่น ปีหนึ่งมีรายชื่อปรากฎรับเงิน 3 ครั้ง แต่ได้รับเงินเพียงครั้งเดียว
พบตุกติกใช้ชื่อชาวบ้านรับเงินสงเคราะห์
พ.ต.ท.วันนพ ระบุว่า การตรวจสอบเบื้องต้น ถือว่าเป็นการเบิกจ่ายที่ผิดปกติ เพราะคนที่มีรายชื่อ และคนที่ไม่ได้ลงลายมือชื่อเอง เขายืนยันว่าเขาไม่ได้รับเงิน จุดนี้ถือเป็นความผิดปกติแล้ว เราจะต้องดำเนินคดีกับผู้ที่เกี่ยวข้องต่อไป และน่าจะสรุปผลการตรวจสอบได้ชัดว่ามีการทุจริตอย่างแน่นอน
ด้าน พ.ต.ท.เธียรรัตน์ วิเชียรสรรค์ ผู้ตรวจราชการสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริง กรณีที่นายพุฒิพัฒน์ เลิศเชาวสิทธิ์ ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) และนายณรงค์ คงคำ รองปลัด พม. ถูกกล่าวหาว่าอาจมีส่วนเกี่ยวข้องการทุจริตเงินคนจน ขณะนี้อยู่ในระหว่างรวบรวมหลักฐานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งได้เร่งดำเนินการอย่างต่อเนื่อง
แต่เนื่องจากข้อมูลเอกสารมีจำนวนมาก จึงมีแนวโน้มที่จะขอขยายเวลาการสอบสวนเพิ่มเติม หลังรัฐมนตรี พม.ให้เวลาสืบสวน 30 วัน และจะครบกำหนดในสิ้นเดือน มี.ค.นี้ ทั้งนี้ อยากให้ประชาชนช่วยกันรักษาสิทธิ ถ้าพบเหตุผิดปกติ สามารถไปให้ข้อมูลกับ ป.ป.ท. ซึ่งขณะนี้ได้ลงพื้นที่ตรวจสอบทั่วประเทศ