วันนี้ (7 มี.ค.2561) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวภายหลังประชุมคณะรัฐมนตรี ถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคพิษสุนัขบ้าที่กระจายไปในหลายจังหวัดว่า ภาพรวมสถานการณ์การแพร่ระบาดยังอยู่ในระดับเดียวกับสถานการณ์เมื่อปี 2560 โดยการควบคุมการแพร่ระบาดของปี 2561 ถือว่าดีขึ้นและควบคุมได้
ขณะนี้จำนวนผู้ติดเชื้อไม่ได้เพิ่มมากขึ้น กระทรวงสาธารณสุขได้วางมาตรการในการฉีดวัคซีนป้องกันพิษสุนัขบ้าในระยะรัศมี 5 กิโลเมตรจากจุดที่พบการแพร่ระบาด ซึ่งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ได้เข้าไปกำกับดูแลอย่างใกล้ชิด ยืนยันว่าไม่ได้เป็นไปตามกระแสข่าวที่ว่ามีการแพร่ระบาดจำนวนมาก
ด้านพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ระบุว่า รัฐบาลพยายามทำเต็มที่และให้ความสนใจเรื่องการระบาดของโรคพิษสุนัขบ้าเป็นพิเศษ โดยนำแนวทางในการขับเคลื่อนสุขภาพขององค์การอนามัยโลก หรือ WHO ที่ให้ความสำคัญเรื่องนี้ รัฐบาลพยายามเร่งการผลิตยา ผลิตวัคซีน โดยองค์การเภสัชกรรมไทยร่วมกับบุคลากรจากต่างประเทศ
ขณะนี้ กรมปศุสัตว์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ประกาศเขตโรคระบาดพิษสุนัขบ้าแล้ว 13 จังหวัด ซึ่งจัดเป็นพื้นที่สีแดง ส่วนอีก 42 จังหวัด ยังต้องเฝ้าระวังจัดเป็นพื้นที่สีเหลือง โดยข้อมูลสถานการณ์โรคพิษสุนัขบ้าย้อนหลัง ตั้งแต่ปี 2560 ถึงปัจจุบัน พบหัวสุนัขติดเชื้อ 1,146 ตัว คิดเป็นร้อยละ 11.08 ของตัวอย่างทั้งหมด 10,347 ตัว พบคนติดเชื้อ และเสียชีวิต 10 คน และปี 2561 พบแล้ว 2 คน
นอกจากพบการติดเชื้อในสุนัขแล้วยังพบในโค แมว และกระบือ แต่เป็นสัดส่วนไม่มากนัก แต่ที่น่าสังเกตคือ มักพบเชื้อในสุนัขและแมวที่มีเจ้าของ ร้อยละ 51.56 และพบว่าเป็นสุนัข-แมว ไม่ได้ฉีดวัคซีนร้อยละ 49.58 ฉีดวัคซีน ร้อยละ13.10
ปลดล็อกใช้งบซ้ำซ้อน แก้ปัญหาฉีดวัคซีนล่าช้า
นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค เปิดเผยว่า ในกรณีที่มีการตรวจพบเชื้อจากหัวสุนัขเพิ่มขึ้นนั้น ซึ่งส่วนหนึ่งอาจมาจากการชะลอการฉีดวัคซีนในสัตว์ช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา จากการทักท้วงของ สตง. รวมทั้งมีการค้นหาสัตว์ป่วยเพิ่มขึ้นแต่ล่าสุดก็มีการปลดล็อกข้อทักท้วงของสตง.ที่กังวลว่าหากท้องถิ่นใช้งบซื้อวัคซีนจะซ้ำซ้อนกับกรมปศุสัตว์ รวมทั้งกังวลว่าอาจไม่ใช่หน้าที่ไปแล้ว
แต่จากข้อมูลสัตว์ที่มีเจ้าของพบเชื้อพิษสุนัขบ้าเพิ่มขึ้น โดยพบถึงร้อยละ 54-55 ของหัวสุนัขที่มีเชื้อพิษสุนัขบ้า ขณะที่สุนัขจรจัดมีประมาณร้อยละ 35 นอกนั้นไม่ทราบประวัติ เป็นสัญญาณว่า สุนัขมีเจ้าของเริ่มมีปัญหา ซึ่งอาจมาจากเจ้าของบางคนปล่อยปละละเลย หรือฉีดวัคซีนไม่ต่อเนื่อง หรืออาจไม่ระวังเลี้ยงแบบเปิด ทำให้สุนัขหนีออกไปข้างนอกและอาจไปสัมผัสกับสุนัขสาธารณะที่มีเชื้อพิษสุนัขบ้าได้
ด้านนพ.อัษฎางค์ รวยอาจิณ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค สธ.กล่าวว่า ขณะนี้พบว่ามีหัวสุนัขที่พบเชื้อกระจายอยู่ในทุกภูมิภาคของประเทศกว่า 250 หัว เพิ่มขึ้นแม้ไม่ถึงเท่าตัวของการพบเชื้อในหัวสุนัขในปีที่ผ่านๆ มา แต่ก็เป็นการเพิ่มขึ้นมาก
โดยพบมากที่สุด คือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก ภาคเหนือ และภาคใต้ตามลำดับ โดยข้อมูลตั้งแต่เดือนม.ค. - วันที่ 28 ก.พ.ที่ผ่านมามีรายงานประชาชนถูกสุนัขกัด เข้ารับการรักษาและขึ้นทะเบียนไว้ 39,101 ราย
ติดเชื้อพิษสุนัขบ้า แต่ไม่ฉีดวัคซีน "เสียชีวิต 100%"
น.สพ.พรพิทักษ์ พันธ์หล้า หัวหน้ากลุ่มโรคติดต่อระหว่างสัตว์และคน กรมควบคุมโรค กล่าวว่า คนไทยส่วนใหญ่จะเลี้ยงสุนัขแบบปล่อย เลี้ยงให้อยู่ในบริเวณรอบบ้าน ซึ่งจะทำให้สุนัขเหล่านี้ได้รับการดูแลที่ไม่ทั่วถึง โดยกรมปศุสัตว์มีวัตถุประสงค์ในการฉีดวัคซีนสุนัขจรจัดในเขตชุมชน แต่ขณะเดียวกันพ.ร.บ.กำหนดให้ผู้ที่เลี้ยงสัตว์ต้องฉีดวัคซีนให้สัตว์ของตนเองด้วย แต่เดิมประชาชนส่วนใหญ่คิดว่าเป็นการรอรับบริการ เลยทำให้ประชาชนคิดส่าจะรอรับบริการดีกว่า ช่วงที่มีการรณรงค์ ที่กรมปศุสัตว์ร่วมกับองค์การบริหารส่วนท้องถิ่นจะร่วมกันรณรงค์ปีละ 2 ครั้ง แต่สถานการณ์โลกในปัจจุบันมันไม่ทันต่อสถานการณ์การระเบิดที่เกิดขึ้นในหลาย ๆ พื้นที่
น.สพ.พรพิทักษ์ กล่าวต่อว่า สิ่งที่เจ้าของสัตว์ต้องให้ความใส่ใจ คือ เรื่องการนำสัตว์ไปฉีดวัคซีน ซึ่งตอนนี้เป็นหน้าที่ตามกฎหมายส่วนหนึ่งด้วยและถือเป็นการป้องกันไม่ให้ตัวเราเองไม่โดนสัตว์ที่มีความเสี่ยงต่อการเป็นพิษสุนัขบ้ากัดจนอาจทำให้เสียชีวิต โดยประชาชนในพื้นที่ต้องแจ้งเบาะเส เพื่อให้ปศุสัตว์เข้าไปจัดการเพิ่มขึ้น ขณะนี้กรมปศุสัตว์เองก็มีนโยบายในการสุ่มตรวจสัตว์ที่ตายผิดปกติ ในตำบลนั้น ต้องมีการสุ่มตรวจปีละอย่างน้อย 1-2 หัว เพื่อเฝ้าระวังพิษสุนัขบ้า จึงทำให้ตัวเลขเพิ่มสูงขึ้นจากการวางระบบเฝ้าระวังในส่วนหนึ่ง
ทั้งนี้ หากถูกสัตว์กัดหรือข่วนให้รีบทำความสะอาดบาดแผล โดยการล้างบาดแผลด้วยน้ำเปล่าและน้ำสบู่ จากนั้นใส่ยาฆ่าเชื้อแล้วรีบไปพบแพทย์เพราะความเสี่ยงของโรคนี้ คือ ถ้าได้รับวัคซีนไม่ทัน โอกาสเสียชีวิต 100%