ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

จีนไม่ใช่คนแปลกหน้าในลุ่มน้ำโขง

ต่างประเทศ
24 ม.ค. 61
19:28
805
Logo Thai PBS
จีนไม่ใช่คนแปลกหน้าในลุ่มน้ำโขง
จีนแผ่อิทธิพลเข้ามาในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง หลังจากประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ริเริ่มยุทธศาสตร์ หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง หรือ One Belt One Road ในปี 2556 โดยมีธนาคารเพื่อการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานแห่งเอเชีย หรือ เอไอไอบี ให้การสนับสนุน

จีนแผ่อิทธิพลเข้ามาในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงชัดเจนขึ้น หลังจากที่ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ของจีนริเริ่มยุทธศาสตร์ หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง หรือ One Belt One Road ในปี 2556 โดยมีธนาคารเพื่อการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานแห่งเอเชีย หรือ เอไอไอบี เป็นสถาบันให้การสนับสนุนด้านการเงินแก่ประเทศที่จีนยื่นความช่วยเหลือปล่อยเงินกู้เพื่อสร้างสาธารณูปโภค ซึ่งมองว่าเป็นการแผ่อิทธพลแบบหนึ่ง หรือ soft Power

จีนเป็นสมาชิกในกรอบความร่วมมือหลายกรอบ ทั้งกรอบประเทศลุ่มน้ำโขง หรือ จีเอ็มเอส มี 6 ประเทศ ได้แก่ ไทย พม่า ลาว กัมพูชา เวียดนาม และจีน เฉพาะมณฑลยูนนาน และยังเข้าร่วมในกรอบความร่วมมือแม่โขง-ล้านช้าง ซึ่งประกอบด้วย 6 ประเทศในจีเอ็มเอส แต่รวมจีนทั้งประเทศเข้าไปด้วย

ทรงฤทธิ์ โพนเงิน อาจารย์พิเศษ โครงการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ให้สัมภาษณ์ไทยพีบีเอสออนไลน์ ว่า กรอบเหล่านี้จะถูกบดบังด้วยโครงการที่ใหญ่กว่า นั่นคือ “หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง”

 

หากมองในมุมของจีนแล้ว อนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงมีขนาดเล็กมาก เมื่อเทียบกับเส้นทางสายไหม ศตวรรษที่ 21 ที่จะเชื่อมโยงเส้นทางทั้งทางบกและทางทะเลในหลายทวีป

ที่สำคัญ คือ จีนมองเห็นว่าภูมิภาคนี้ไม่มีเอกภาพและตีโจทย์ออกว่า แต่ละประเทศต้องการอะไร แล้วจีนก็จะไปเสริมยุทธศาสตร์ของประเทศนั้นๆ ซึ่งตรงกับยุทธศาสตร์หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง ของจีน

ผู้นำกัมพูชาต้องการเสถียรภาพทางการเมือง จึงมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับผู้นำจีนสะท้อนได้จากการเป็นเจ้าภาพร่วมระหว่างจีนและกัมพูชา ในการจัดประชุมลุ่มน้ำโขง-ล้านช้าง ที่กรุงพนมเปญ เมื่อวันที่ 10 มกราคมที่ผ่านมา

หลี่ เค่อ เฉียง นายกรัฐมนตรีจีน กับฮุน เซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา นั่งเคียงคู่กันในการประชุม เกิดอะไรขึ้น จีนให้เปล่า 300 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เป็นเงินเตรียมเลือกตั้ง ไม่ต้องง้อยุโรป ฮุน เซน มีข้อแลกเปลี่ยนเป็นถนน ไฮเวย์ พนมเปญ-สีหนุวิลล์ ทั้งๆ ที่มีเส้นทางรถไฟอยู่แล้ว เพราะเป็นเขตผลประโยชน์ของจีนล้วนๆ เนื่องจากสีหนุวิลล์เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษที่จีนผูกขาดอยู่แล้ว

 

ทรงฤทธิ์ฉายภาพให้เห็นว่า จีนวางแผนไว้หมดแล้ว มีโรงงานถลุงเหล็กกล้าพระวิหาร และยังมีรถไฟรางคู่ไปเกาะกง ซึ่งกำลังพัฒนาเป็นท่าเรือน้ำลึกขนาดใหญ่ ลงทุนโดยจีนเพื่อขนส่งสินค้าไปยังจีนนั่นเอง

ส่วนลาว มียุทธศาสตร์ต้องการเป็นแบตเตอร์รีแห่งเอเชีย จีนจึงสนับสนุนทั้งการเงินและเทคโนโลยี เพื่อการสร้างเขื่อนในลาว

ลาวยังต้องการเป็นศูนย์กลางเชื่อมโยงในภูมิภาคหรือ Land Link จีนก็สร้างเส้นทางรถไฟความเร็วสูง 417 กิโลเมตร จากชายแดน ที่ติดกับจีนมายังลาว โดยลาวไม่ได้ออกเงินสักกีบ

แน่นอนว่า จีนไม่ได้ให้เปล่า แต่ได้ประโยชน์ตอบแทน เพราะเส้นทางรถไฟ จะเป็นเส้นทางขนวัตถุดิบการเกษตร ที่จีนสัมปทานที่ดิน เพื่อเพาะปลูกพืชนานาชนิด แล้วขนส่งกลับจีน

 

นอกจากนี้ จีนยังสนับสนุนการสร้างทางด่วนเชื่อมระหว่างภูมิภาคนี้ ทั้งเส้นทางเชียงรุ่ง-เวียงจันทน์ เวียงจันทน์-ฮานอย เวียงจันทน์-พนมเปญ และเวียงจันทน์-สีหนุวิลล์ เป็นโครงข่ายเชื่อมโยงกันทั้งสิ้น

แต่..จีนพลาดที่นำวิธีคิดที่ใช้กับลาวมาใช้กับไทย

ทรงฤทธิ์ย้อนให้เห็นว่า รัฐบาลไทยเปลี่ยนนโยบายสร้างรางรถไฟ ในที่สุด ก็ทำรถไฟความเร็วสูง แต่ไปถึงนครราชสีมา เพราะไทยเริ่มคิดทันจีนแล้ว

“เราเริ่มรู้ว่า ถ้าจีนทำทางรถไฟถึงเวียงจันทน์ แต่ไม่มีรถไฟจากโคราชไปถึงหนองคาย เส้นทางรถไฟจะเชื่อมโยงได้อย่างไร”

หากรถไฟมาถึงเวียงจันทน์ ก็จะเกิด “ฟันหลอ” ช่วงเส้นทางจากเวียงจันทน์มาหนองคายซึ่งจำเป็นต้องเชื่อมจากหนองคายมายังกรุงเทพฯ แล้วลงใต้ เพื่อทะลุไปยังโกตาบารู กรุงกัวลาลัมเปอร์ ของมาเลเซีย เพื่อไปให้ถึงปลายทางที่สิงคโปร์

 

จีนจึงพลิกท่าทีและยอมโอนอ่อนให้ไทย ยอมถ่ายทอดเทคโนโลยีและความรู้ให้กับไทยพร้อมลุ้นให้ไทย เร่งสร้างทางรถไฟจากนครราชสีมา ไปยังหนองคายโดยเร็ว

ผู้เชี่ยวชาญด้านอาเซียนศึกษาแนะว่า ผู้นำไทยต้องรู้เท่าทันยุทธศาสตร์ของจีน ไม่เช่นนั้นก็จะตกอยู่ในฐานะเสียเปรียบ

แต่หากมองในภาพรวม ยุทธศาสตร์ของจีนกับประเทศในลุ่มน้ำโขง ก็ไม่ได้เพิ่งเริ่มต้น และไทยก็ใช่ว่า ไม่เคยเดินเข้าไปอยู่ในแผนยุทธศาสตร์ของจีน เพียงแต่ไทยเข้าไปอย่างรู้ตัวหรือไม่เท่านั้น

ปารนีย์ จันทรกุล ผู้สื่อข่าวไทยพีบีเอส

ข่าวที่เกี่ยวข้อง