วันนี้ (7 ม.ค.2561) จากกรณี น.ส.ณิชา เกียรติธนะไพบูลย์ อายุ 24 ปี ที่ทำบัตรประจำตัวประชาชนหาย ภายหลังพบว่าถูกนำไปเปิดบัญชีถึง 9 บัญชี ซึ่งคาดว่าเป็นบัญชีที่หลอกผู้คนโอนเงินมาผ่านแก็งคอลเซ็นเตอร์ จนถูกดำเนินคดีในข้อหาฉ้อโกง ทำให้เกิดคำถามว่า หากบัตรประชาชนหายควรทำอย่างไรจึงจะปลอดภัย ไทยพีบีเอสออนไลน์สอบถามไปยังนักกฎหมายเพื่อตอบข้อสงสัยในเรื่องนี้
โดยนายจักรกฤษณ์ โสมวิภาต ทนายอาสา สภาทนายความ กล่าวถึงกรณีนี้ว่า แม้ในทางปฏิบัติเมื่อบัตรประชาชนหาย ไม่จำเป็นต้องแจ้งความแล้ว แต่หากเกิดบัตรประชาชนหายจริง สิ่งที่ควรทำ คือ การแจ้งความ ลงบันทึกประจำวันไว้ เพื่อเป็นหลักฐาน และเป็นการแสดงความบริสุทธิ์ของตนเอง เนื่องจากอาจมีผู้ไม่หวังดีใช้ประโยชน์จากบัตรประชาชนได้ อย่างเช่นในกรณีของ น.ส.ณิชา ที่ถูกนำบัตรประชาชนไปเปิดบัญชีและกระทำการผิดกฎหมาย จนทำให้ทั้งเจ้าของบัตรและผู้อื่นได้รับความเสียหาย โดยหากเป็นการหายทั้งกระเป๋าเงินอาจมีของมีค่าอื่นๆ รวมอยู่ด้วย ดังนั้น การแจ้งความนอกจากช่วยพิสูจน์ความบริสุทธิ์แล้ว ยังอาจได้กระเป๋าเงินและของที่หายคืนกลับมาอีกด้วย
โดยผู้ที่ทำบัตรประชาชนสูญหาย หลังจากแจ้งความแล้วสามารถดำเนินตามขั้นตอน โดยผู้ประสงค์จะขอทำบัตรประชาชนสามารถยื่นคำร้องต่อนายทะเบียน ณ สำนักทะเบียนแห่งใดก็ได้ทั่วประเทศ เมื่อบัตรประจำตัวประชาชนเกิดสูญหาย ให้เจ้าของบัตรประชาชนไปดำเนินการแจ้งบัตรฯ หายต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ได้ ณ สำนักทะเบียนทั่วประเทศแห่งใดแห่งหนึ่ง เพื่อขอมีบัตรใหม่ภายใน 60 วัน ส่วนหลักฐานที่ใช้ประกอบเพื่อขอทำบัตรฯ คือ สำเนาทะเบียนบ้านฉบับเจ้าบ้าน (ถ้ามี), หลักฐานเอกสารที่ทางราชการออกให้และมีรูปถ่ายติด เช่น ใบอนุญาตขับรถยนต์ (ต้องไม่หมดอายุ) หนังสือเดินทางไปต่างประเทศ เป็นต้น ในกรณีของพระสงฆ์ใช้ใบสุทธิ (บัตรประจำตัวของพระ)
หากไม่มีเอกสารหลักฐานไปแสดงหรือหลักฐานที่นำไปแสดงไม่สามารถพิสูจน์ยืนยันตัวบุคคลได้ นายทะเบียนจะเรียกสอบสวนเจ้าบ้านหรือบุคคลที่น่าเชื่อถือ เช่น ข้าราชการ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ไปให้คำรับรอง หากบัตรประจำตัวประชาชนหายมานานแล้ว ทางสำนักทะเบียนเขตหรืออำเภอ อาจจะขอบุคคลผู้น่าเชื่อถือมาให้การรับรองด้วย บุคคลผู้น่าเชื่อถือ หมายถึง บุคคลใด ๆ ซึ่งมีภูมิลำเนาที่อยู่แน่นอน มีอาชีพมั่นคงและมีความรู้จักคุ้นเคยกับผู้ขอมีบัตรเป็นอย่างดี อาจเกี่ยวข้องเป็นญาติกันหรือไม่ก็ได้