ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

“พระเมรุมาศ” ในค่ำคืนวันพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ ในหลวงรัชกาลที่ 9

สังคม
26 ต.ค. 60
17:20
7,175
Logo Thai PBS
“พระเมรุมาศ” ในค่ำคืนวันพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ ในหลวงรัชกาลที่ 9
ภาพพระเมรุมาศ ในหลวงรัชกาลที่ 9 ในห้วงเวลาแห่งพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ ในหลวงรัชกาลที่ 9 สมพระเกียรติยศอย่างสูงสุด ท่ามกลางมีพระราชวงศ์ และบุคคลสำคัญ 42 ประเทศ รวมทั้งบุคคลสำคัญของไทย แลประชาชนนับแสนคนรอบพื้นที่ ท้องสนามหลวง

วันนี้ (26 ต.ค.2560) ตลอดทั้งวันที่พสกนิกรชาวไทย เฝ้ารอชมริ้วขบวนอิสริยยศ งานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในหลวงรัชกาลที่ 9 ด้วยหัวใจที่โศกเศร้า จนพระราชพิธีสิ้นสุด เมื่อสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จฯ ขึ้นพระเมรุมาศถวายพระเพลิงพระบรมศพ ที่พระเมรุมาศ ณ ท้องสนามหลวง ซึ่งถือเป็นพระเมรุมาศที่ยิ่งใหญ่ สมพระเกียรติยศอย่างสูงสุด

ข้อมูลจาก เว็บไซต์ kingrama9.th อธิบายถึง ความงดงามที่ถูกซ่อน ภายใต้การวางผังพระเมรุมาศ โดย ดร.พรธรรม ธรรมวิมล ภูมิสถาปนิก สำนักสถาปัตยกรรม กรมศิลปากร ผู้ดูแลการวางผังพระเมรุมาศพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ระบุว่า

แนวคิดการวางผังพระเมรุมาศ ว่าการวางผังพระเมรุมาศฯ มีความเชื่อมโยงกับ ศาสนสถานโบราณสำคัญที่อยู่บริเวณรอบมณฑลพิธีท้องสนามหลวง โดยกำหนดที่ประดิษฐานของบุษบกองค์ประธาน ที่ตั้งของพระจิตกาธาน สำหรับถวายพระเพลิง พระบรมศพฯ จากจุดตัดของเส้นทิศเหนือ – ใต้ ซึ่งลากจากยอดพระศรีรัตนเจดีย์ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม กับเส้นทิศตะวันออก – ตะวันตก ที่ลากจากเขตพุทธาวาส วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ ราชวรมหาวิหาร

 


พระเมรุมาศในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ที่เป็นสถาปัตยกรรมทรงบุษบกยอดปราสาท 9 ยอด มีความสูง 50.49 เมตร ตรงกลางเป็นบุษบกขนาดใหญ่ 7 ชั้นเชิงกลอน ออกแบบตามหลักราชประเพณีโบราณสมัยรัตนโกสินทร์ ใช้แนวคิดคติไตรภูมิ คัมภีร์พุทธศาสนา ความเชื่อพระมหากษัตริย์เปรียบเสมือนสมมติเทพตามระบบเทวนิยม ออกแบบ โดยนายก่อเกียรติ ทองผุด นายช่างศิลปกรรม สำนักสถาปัตยกรรม กรมศิลปากรเป็นรูปทรงบุษบกตามแบบตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5

 

 

พระเมรุมาศครั้งนี้มี 9 ยอด ยิ่งใหญ่กว่าที่เคยปรากฎมา เพื่อให้สมพระเกียรติ ในหลวงรัชกาลที่ 9 ยอดบุษบกใหญ่ เป็นที่ตั้งพระจิตกาธาน พื้นที่โดยรอบเป็นสี่เหลี่ยมจัตุรัสกว้างด้านละ 60 เมตร มีบันไดทั้ง 4 ด้าน ฐานยกพื้นสูง 3 ชั้น ชั้นบนทั้งสี่ประกอบด้วยบุษบกซ่าง มีชั้นเชิงกลอนห้าชั้น สำหรับพระพิธีธรรมสวดพระอภิธรรม และฐานชั้นที่ 2 ทั้ง 4 มุม เป็นหอเปลื้องซุ้มทรงบุษบกรูปแบบเดียวกัน

พื้นที่ฝั่งทิศเหนือ ของพระเมรุมาศ จัดภูมิสถาปัตยกรรมแปลงนาข้าวขนาด 1 ไร่ ภายในค้นนารูปเลขเก้าไทยสีดินทอง พร้อมทำฝายกั้นน้ำล้น แก้มลิง และจำลองกันน้ำชัยพัฒนา ตามโครงการพระราชดำริ

 

 

ทั้งนี้พระเมรุมาศ แล้วเสร็จสมบูรณ์ในวันที่ 19 ต.ค.ที่ผ่านมา หลังจากมีการถอดนั่งร้านโครงสร้างพระเมรุมาศองค์ประธานออก รวมระยะเวลาตั้งแต่ ธ.ค. 2559 รวมเวลา 9 เดือนเต็ม 

ในการพระราชพิธี มีพระราชวงศ์ และบุคคลสำคัญ 42 ประเทศ รวมทั้งบุคคลสำคัญของไทยตั้งแต่ราชสกุล, ประธานองคมนตรี, องคมนตรี สนช. ป.ป.ช. นายกรัฐมนตรี คณะรัฐมนตรี และอดีตนายกรัฐมนตรี เข้าร่วมงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ บริเวณศาลาทรงธรรม 

 
 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง