หลังจากริ้วขบวนที่ 1 อัญเชิญพระโกศทองใหญ่โดยพระยานมาศสามลำคาน จากพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทในพระบรมมหาราชวัง ขึ้นประดิษฐานในบุษบกพระมหาพิชัยราชรถ บริเวณหน้าวัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร จากนั้นริ้วขบวนจะเคลื่อนไปทางถนนสนามไชย ถนนราชดำเนินใน และเข้าสู่มณฑลพิธี ณ พระเมรุมาศ รวมระยะทาง 890 เมตร ใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วโมง
พระมหาพิชัยราชรถ
"พระมหาพิชัยราชรถ" ในริ้วขบวนที่ 2 มีลักษณะเป็นราชรถทรงบุษบก ทำด้วยไม้แกะสลัก ลงรักปิดทอง ประดับกระจก สร้างขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ใช้เพื่อการอัญเชิญพระโกศพระอัฐิสมเด็จพระปฐมบรมมหาชนก (ทองดี) ออกพระเมรุ เมื่อพุทธศักราช 2339 ต่อมาใช้อัญเชิญพระบรมโกศพระมหากษัตริย์ และพระโกศพระบรมวงศ์จนถึงปัจจุบัน
พระมหาพิชัยราชรถเป็นราชรถที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในริ้วขบวนพระบรมราชอิสริยยศ มีความสูง 11.20 เมตร กว้าง 4.84 เมตร ยาว 18 เมตร เเละมีน้ำหนัก 13.7 ตัน ใช้พลฉุดชักเพื่อเคลื่อนพระมหาพิชัยราชรถทั้งหมด 216 นาย แบ่งเป็นส่วนด้านหน้า 172 นาย ด้านหลัง 44 นาย เเละพลควบคุม 5 นาย
เพลงพญาโศก
“เพลงพญาโศก” หรือ “เพลงโศกประจำชาติ” บรรเลงโดยกรมดุริยางค์ทหารบกในริ้วขบวนที่ 2 เป็นพระนิพนธ์ในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอเจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต พระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ขณะทรงดำรงพระยศเป็นสมเด็จเจ้าฟ้า กรมหลวงฯ เสนาบดีกระทรวงทหารเรือ โดยได้ทรงนำเพลงพญาโศกอัตรา 2 ชั้นมาเรียบเรียงเป็นโน้ตสากล ทั้งเพิ่มเติมเสียงประสานให้มีความไพเราะเป็นแบบเพลงตะวันตกเพื่อให้กองแตรวงทหารบรรเลงแทนเพลงสโลว์มาร์ชที่เป็นของต่างชาติ
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้บรรเลงครั้งแรกในการพระราชพิธีพระบรมศพสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินี พระพันปีหลวง และทรงมีพระราชดำรัสว่า
เพลงนี้ได้ทำขึ้นเหมาะแก่การใช้นำศพอย่างยิ่ง เพราะดี สมควรเป็นเพลงโศกจริง ๆ ต่อไปขอให้ใช้เพลงนี้เป็นเพลงโศกประจำชาติ และใช้นำตั้งแต่พระบรมศพ ตลอดจนศพสามัญได้
ต่อมา เมื่อเสด็จไปรับราชการในตำแหน่งเสนาธิการทหารบก ทูลกระหม่อมบริพัตรได้ทรงพระนิพนธ์เพิ่มเติม โดยนำเพลงต้นพญาโศกมาเรียบเรียงให้เป็นท่อน 2 เพื่อให้มีความสมบูรณ์มากขึ้น จนเป็นที่นิยมใช้กันในการบรรเลงขณะเคลื่อนขบวนศพจนถึงปัจจุบัน
เกรินบันไดนาค
"เกรินบันไดนาค" คือ อุปกรณ์ที่ใช้เชิญพระโกศพระบรมศพขึ้นหรือลงจากราชรถและพระเมรุมาศแทนการใช้นั่งร้านไม้ต่อยกสูงแบบสมัยโบราณ ที่ใช้กำลังคนยกขึ้นลงซึ่งมีความยากลำบาก ไม่สะดวก
โดยทำเป็นรางเลื่อนขึ้นลงด้วยกว้านหมุน ลักษณะการใช้งานเหมือนลิฟต์ในปัจจุบัน มีแท่นที่วางพระโกศเพื่อสะดวกในการเคลื่อนย้ายขึ้นหรือลง ลักษณะเป็นแท่นสี่เหลี่ยม ขอบฐานแกะสลักลายปิดทองประดับกระจก ท้ายเกรินเป็นพื้นลดระดับลงมา ซึ่งเป็นที่สำหรับเจ้าพนักงานภูษามาลาขึ้นนั่งประคองพระโกศพระบรมศพ มีลักษณะคล้ายท้ายสำเภา ด้านข้างบุผ้าตาดทอง มีราวทั้งสองข้างตกแต่งเป็นรูปพญานาค จึงเรียกว่าเกรินบันไดนาค
เกรินบันไดนาคคิดค้นโดยสมเด็จพระสัมพันธวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงพิทักษ์มนตรี พระโอรสในสมเด็จพระพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากรมพระศรีสุดารักษ์ สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ.2354 ใช้ครั้งแรกในงานพระเมรุมาศพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช พ.ศ.2355
ข้อมูล : http://www.kingrama9.net