ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

“พญาโศกลอยลม” เพลงในริ้วขบวนพระบรมราชอิสริยยศ

สังคม
8 ต.ค. 60
07:49
12,166
Logo Thai PBS
“พญาโศกลอยลม” เพลงในริ้วขบวนพระบรมราชอิสริยยศ

การซ้อมย่อยริ้วขบวนพระบรมราชอิสริยยศงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลภูมิพลอดุลยเดช เมื่อวานนี้ (7 ต.ค.2560) หลายคนคงได้เห็นภาพทหารก้าวเท้าตามจังหวะเพลง “พญาโศกลอยลม” ในการอันเชิญพระบรมโกศพระบรมศพ

พญาโศก เพลงอัตราจังหวะ 2 ชั้น มีทำนองเก่าสมัยอยุธยา เป็นหนึ่งในเพลงเกร็ดที่ใช้ประกอบการแสดงโขนละครบทโศก ซึ่งมี 6 เพลง คือ เพลงพญาฝัน พญาโศก ท้ายพญาโศก พญาตรึก พญารำพึง และพญาครวญ สำหรับเพลงพญาโศกจะใช้ร้องในบทที่ตัวละครโศกเศร้าอยู่กับที่เท่านั้น เช่น ยืน นั่ง นอน จะใช้ในบทที่เดินเคลื่อนที่ไม่ได้

นอกจากนี้ บทที่ร้องด้วยเพลงพญาโศกจะต้องเลือกฐานะของตัวละคร โดยมากจะเป็นตัวละครกษัตริย์ เจ้านาย หรือผู้มีบรรดาศักดิ์ชั้นสูง เช่น ในบทเสภาเรื่องขุนช้าง-ขุนแผน ที่ว่า “เหลือบเห็นพระไวยอาลัยพ่อ น้ำพระเนตรคลอคลอถึงขุนแผน” หรือบทของอิเหนา พระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ 2 ว่า “ทอดองค์ลงกับที่ศรีไสยาสน์ ร้อนราชหฤทัยหม่นหมอง”

ต่อมาพระประดิษฐ์ไพเราะ (มี ดุริยางกูร) ได้แต่งขยายขึ้นเป็นอัตราจังหวะสามชั้น เมื่อปลายรัชกาลที่ 4 เพื่อใช้เป็นเพลงบรรเลงและขับร้องในวงมโหรีและวงปี่พาทย์ รวมทั้งนำมาประดิษฐ์เป็นเพลงทางเดี่ยว ซึ่งนักดนตรีสมัยต่อมายึดเป็นแบบฉบับในการเดี่ยวด้วยเครื่องดนตรีต่าง ๆ เช่น พระยาภูมีเสวิน (จิตร จิตรเสวิน) แต่งสำหรับเดี่ยวซอสามสาย, จางวางทั่ว พาทยโกศล แต่งสำหรับเดี่ยวฆ้องวงใหญ่ ระนาดเอก, นายสอนวงฆ้อง แต่งสำหรับเดี่ยวฆ้องวงใหญ่ นอกจากนี้ จ่าเอกมล (เจียน) มาลัยมาลย์ ได้แต่งทำนองสำหรับเดี่ยวระนาดเอกโดยขยายเป็นสี่ชั้น

เมื่อปี พ.ศ. 2462 สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต พระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเห็นว่า สมัยนั้นไทยยังใช้เพลงต่างชาติในการเคลื่อนพระบรมศพหรือพระศพพระมหากษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์ชั้นสูง จึงทรงพระนิพนธ์เพลงพญาโศกสำหรับวงดุริยางค์ใช้บรรเลงถวายในงานพระศพของพระบรมวงศานุวงศ์ โดยทรงดัดแปลงเพลงพญาโศกที่เป็นดนตรีไทยให้เป็นตัวโน้ตดุริยางค์สากล

เมื่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงฟังแล้ว โปรดเป็นอย่างมากและทรงเห็นว่าเหมาะสมแก่การอวมงคลเป็นอย่างยิ่ง จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ใช้ครั้งแรกในการพระราชพิธีพระบรมศพสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทั้งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ประกาศให้เป็น "เพลงโศกประจำชาติ" ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา และยังทรงให้ใช้ได้ตั้งแต่การพระราชพิธีพระบรมศพ พระศพเจ้านาย แม้กระทั่งงานศพสามัญชน แต่ปัจจุบันชาวบ้านนิยมใช้เพลงธรณีกันแสงในงานศพ

อย่างไรก็ตาม ประชาชนไทยจะได้ยินเสียงเพลงพญาโศกลอยลมอีกครั้ง ในการอันเชิญพระบรมโกศพระบรมศพในริ้วขบวนอิสสริยยศงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลภูมิพลอดุลยเดช วันที่ 26 ต.ค.2560

ข้อมูล : กรมศิลปากร, ดนตรีไทย Thai classical music, www.kingrama9.net

 

 

 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง