วันนี้ (3 ส.ค.2560) นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ในฐานะประธานกรรมาธิการ 3 ฝ่าย ชี้แจงการปรับแก้ตามข้อโต้แย้งของกรรมการร่างรัฐธรรมนูญที่เห็นว่ามี 4 ประเด็นยังขัดต่อเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูยปี 2560 โดยสรุปว่ามีปรับแก้ตามที่ กรธ.เสนอ 2 ประเด็น ส่วนประเด็นที่คงตามร่างเดิม คือเรื่องกระบวนการจัดตั้งสาขาพรรค หรือตัวแทนพรรคประจำจังหวัดในระบบไพรมารีโหวตและการพิจารณาคัดเลือกผู้สมัครของคณะกรรมการบริหารพรรคการเมืองตามที่สาขาพรรคการเมืองส่งรายชื่อมาให้นั้น กมธ.ร่วมเห็นว่าเป็นไปตามเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญแล้ว โดยประเด็นที่ปรับแก้ 2 ประเด็นได้มีการกำหนดโทษที่ชัดเจนในระบบไพรมารี่โหวตไว้ในร่างฉบับนี้เพิ่มเติมไว้ 2 มาตรา คือในมาตรา 51(4) และมาตรา 52 พร้อมกำหนดมาตราใหม่ 7 มาตรา คือ มาตรา 51/1 ,51/2, 51/3 และ 51/4 โดยมาตรา 51/4 บัญญัติให้สิทธิหัวหน้าพรรคการเมืองเลือกลงรับสมัครรับเลือกตั้งได้ทั้งแบบเขตและบัญชีรายชื่อ แต่ต้องเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง และมาตรา 112/1, 112/2, 112/3 เป็นโทษเกี่ยวกับการทุจริตในขั้นตอนไพรมารีโหวต ยืนยันไม่มีมาตรการยุบพรรค อัตราโทษหนักเบาแล้วแต่การกระทำความผิด
ทั้งนี้ ท้ายรายงานของกรรมาธิการได้รับความเห็นชอบให้ตั้งข้อสังเกต 2 ประการ เพื่อให้ กกต.ในฐานะผู้ปฏิบัติตามกฎหมายใช้เป็นแนวทางในการปฏิบัติต่อไป คือ 1. ในการดำเนินกิจกรรมทางการเมืองของพรรคการเมืองต้องมีกระบวนการให้สมาชิกพรรคมีส่วนร่วม ใช่เพียงให้ความสำคัญแต่เพียงรูปแบบการเลือกตั้ง อันเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดวิกฤตบ้านเมือง และ 2. กรธ.เห็นควรให้ กกต.นำความเห็นที่เสนอทั้ง 4 ประเด็นไปเป็นข้อคำนึงพิจารณาในการออกกฎหมายลำดับรองและการปฏิบัติหน้าที่ของ กกต. เพื่อให้การเลือกตั้งเป็นไปบริสุทธิ์ยุติธรรม ได้นักการเมืองที่ดีตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ
ด้านนายอุดม รัฐอมฤต กรรมาธิการสัดส่วนของ กรธ.งดอภิปรายในประเด็นที่มีความเห็นต่างในชั้นกรรมาธิการ 3 ฝ่าย โดยเฉพาะเรื่องการปรับวิธีการขั้นตอนในการเลือกผู้ที่จะเป็นสมาชิกในการลงสมัคร มีประเด็นสำคัญย้ำให้ กกต.พิจารณากำหนดเขตเลือกตั้งให้ตามความสามารถของพรรคการเมืองในการส่งผู้แทนฯ เนื่องจากมีเงื่อนไขใหม่เกิดขึ้น คือมีสาขาพรรคหรือตัวแทนพรรคประจำจังหวัด และมีกระบวนการให้สมาชิกในเขตเลือกตั้งนั้นๆมีส่วนในการเลือก การจะอำนวยความสะดวกให้เกิดความราบรื่น จะต้องได้รับความร่วมมือจากฝ่ายรัฐบาล กกต.และพรรคการเมือง ขณะที่การสร้างเงื่อนไขให้กับพรรคการเมืองมีความสามารถในการส่งผู้สมัคร ที่ต้องมีสมาชิกจำนวนมาก เพื่อให้ประชาชนได้เลือกคนที่มีคุณภาพตามที่พรรคการเมืองเสนอมา พร้อมยืนยันว่าการทำข้อโต้แย้งทั้ง 4 ประเด็นนั้นมีเจตนาให้การจัดทำไพรมารีโหวตและการเลือกตั้งเป็นไปด้วยความเรียบร้อบและสอดคล้องตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด