ข้อดีของการใช้งานเรือดำน้ำแบบ S26T
1. ด้านการซ่อนพรางตัว เรือดำน้ำแบบ S26T มีขีดความสามารถในการซ่อนพรางตัวเองสูงมากเมื่อเทียบกับเรือดำน้ำแบบธรรมดาที่ใช้แบตเตอรี่เพียงอย่างเดียว เพราะจะสามารถอยู่ใต้น้ำได้นานกว่าถึง 5 เท่า เนื่องจากมีการติดตั้งระบบขับเคลื่อนที่ไม่ใช้อากาศจากภายนอก หรือระบบ AIP (Air Independent Propulsion System) หรือหมายถึงไม่ขึ้นมาหายใจ แต่สามารถเดินเครื่องกำเนิดไฟฟ้าขณะดำอยู่ใต้น้ำได้ เนื่องจากใช้ออกซิเจนจากถังเก็บที่นำไปกับเรือด้วย ทำให้ได้เปรียบต่อฝ่ายตรงข้าม เพราะสามารถติดตามความเคลื่อนไหวของกำลังทางเรือฝ่ายตรงข้ามได้
2. ด้านระบบอาวุธที่มีหลากหลายและรุนแรง โดยทั่วไปแล้วอาวุธที่เป็นอาวุธหลักของเรือดำน้ำ คือ ตอร์ปิโด ซึ่งจะยิงจากท่อตอร์ปิโด ซึ่งสามารถยิงอาวุธปล่อยนำวิถีใต้น้ำสู่พื้นหรือสู่เป้าหมายบนฝั่งได้ด้วย รวมทั้งยังออกแบบให้สามารถวางทุ่นระเบิดได้อีก ทำให้กองทัพเรือจะมีขีดความสามารถในการสู้รบเพิ่มมากขึ้นเป็นอย่างมากจากการได้รับอาวุธ ทั้ง 3 ชนิดที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้น ถือเป็นขีดความสามารถที่สำคัญ
3. ด้านความปลอดภัย ภายในตัวเรือดำน้ำแบบ S26T ได้ออกแบบให้แบ่งเป็นห้อง หรือ Compartment ย่อย ๆ ที่กันน้ำ เมื่อมีเหตุการณ์น้ำเข้าเรือห้องใดห้องหนึ่ง เรือก็ยังมีแรงลอยตัวสำรองมากพอที่สามารถนำเรือขึ้นสู่ผิวน้ำได้ นอกจากนี้การแบ่งเป็นห้อง หรือ Compartment ย่อย เมื่อเกิดเหตุฉุกเฉินขึ้นในห้องใดห้องหนึ่ง กำลังพลของเรือก็ยังสามารถย้ายไปยังห้องอื่น เพื่อรอคอยความช่วยเหลือจากยานกู้ภัยเรือดำน้ำ หรือจากหน่วยที่ให้ความช่วยเหลือได้ ซึ่งปัจจุบันยานช่วยชีวิตหรือยานกู้ภัยเรือดำน้ำได้รับการออกแบบให้สามารถให้การช่วยเหลือเรือดำน้ำที่ประสบเหตุได้ถึงความลึก กว่า 500 เมตร โดยไม่มีความจำเป็นที่จะต้องหนีออกจากเรือดำน้ำ ที่เป็นทางเลือกสุดท้ายเมื่อไม่มีหนทางอื่น เนื่องจากการหนีออกจากเรือดำน้ำมาเองนั้นเสี่ยงอันตรายมาก
4. ด้านการฝึกอบรมกำลังพลที่จะไปเป็นกำลังพลรับเรือกลับมาและใช้งานเรือดำน้ำลำนี้ชุดแรก จะได้รับการฝึกอบรมเป็นขั้นเป็นตอนจากกองทัพเรือสาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งมีประสบการณ์การฝึกอบรมมากว่า 60 ปี มีกำลังพลที่ผ่านการอบรมแล้วกว่า 80,000 นาย ซึ่งการอบรมให้กับกำลังพลของกองทัพเรือจะใช้แนวทางการฝึกอบรมแบบเดียวกับที่ทำการฝึกอบรมให้กับกำลังพลประจำเรือของสาธารณรัฐประชาชนจีนเอง ที่มีเรือดำน้ำแบบดีเซล-ไฟฟ้า ใช้งานมากกว่า 50 ลำ โดยเริ่มตั้งแต่ขั้นตอนการฝึกอบรมในห้องเรียน เพื่อเรียนรู้ทางภาคทฤษฎีในหน้าที่ของแต่ละคน การฝึกในเครื่องฝึกจำลอง (Simulator) เพื่อเรียนรู้การทำงานของหน้าที่และอุปกรณ์ต่างๆในเรือดำน้ำ การเรียนรู้อุปกรณ์ในเรือจริง เพื่อให้สามารถใช้งานและเกิดความคุ้นเคย การลงฝึกในเรือดำน้ำที่สร้างเสร็จแล้ว ทำการฝึกกำลังพลทั้งลำในการใช้งานเรือ ตั้งแต่การเดินเรือตามปกติในทะเล ซึ่งถือว่าเป็นพื้นฐานที่สำคัญ ไปจนถึงการฝึกใช้อาวุธ โดยกองทัพเรือสาธารณรัฐประชาชนจีนจะทำการฝึกและควบคุมการฝึก ตลอดระยะเวลาการฝึกอบรมทั้งสิ้นประมาณ 2 ปี
5. ด้านการดูแลรักษาที่ต่อเนื่อง ซึ่งนอกจากการรับประกันหลังการส่งมอบระยะเวลา 2 ปี ที่บริษัทอื่นไม่ได้เสนอแล้ว การรับประกันเปลี่ยนอะไหล่ที่ชำรุด ในวงรอบ 8 ปี ที่รวมการสนับสนุนอะไหล่ที่ต้องการสำหรับการทำการตรวจสภาพเรือตามวงรอบถึง 5 ครั้ง (3 Dock check และ 2 Minor overhaul) ในช่วงดังกล่าวด้วย รวมทั้งการสนับสนุนเจ้าหน้าที่เทคนิคมาประจำที่กองเรือดำน้ำ ตลอดช่วงเวลารับประกันเป็นระยะเวลา 2 ปี ซึ่งถือว่าเป็นสิ่งที่สำคัญมากในการเริ่มต้นของการมีเรือดำน้ำเข้าประจำการของกองทัพเรืออีกครั้งหนึ่ง
ทั้งนี้ กองทัพเรือได้มีการเตรียมความพร้อม สำหรับการจะจัดหาเรือดำน้ำมาประจำการ จึงได้มีการเตรียมงานเป็นขั้นเป็นตอน ไม่ว่าจะเป็นการสร้างอาคารกองบัญชาการกองเรือดำน้ำ การสร้างอาคารที่พักสำหรับกำลังพล การจัดส่งกำลังพลไปฝึกอบรมด้านเรือดำน้ำจากต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง ทั้งจากสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี สาธารณรัฐเกาหลี และสหรัฐอเมริกา การเข้าประชุมสัมมนาต่างๆ ทั้งในภาคพื้นเอเชียแปซิฟิก และยุโรป การจัดส่งกำลังพลร่วมฝึกและสังเกตการณ์ฝึกในเรือดำน้ำ การส่งคณะไปแลกเปลี่ยนความรู้และข้อมูลกับกองเรือดำน้ำประเทศต่าง ๆ รวมทั้ง ได้จัดหาเครื่องฝึกศูนย์ยุทธการเรือดำน้ำ เพื่อเป็นการศึกษา ทบทวน ความรู้ให้กับกำลังพล และทดสอบ ทดลองยุทธวิธีเรือดำน้ำ
ข้อมูลเพิ่มเติม การพัฒนากำลังรบของประเทศในแถบอาเซียนที่มีเขตแดนติดกับประเทศไทยในอีก 10 ปีข้างหน้า
1. ประเทศมาเลเซีย จะมีเรือผิวน้ำติดอาวุธปล่อยนำวิถี 20 ลำ เรือดำน้ำ 2 ลำ
2. ประเทศสิงคโปร์ จะมีเรือผิวน้ำติดอาวุธปล่อยนำวิถี 12 ลำ เรือดำน้ำ 6 ลำ
3. ประเทศเวียดนาม จะมีเรือผิวน้ำติดอาวุธปล่อยนำวิถี 20 ลำ เรือดำน้ำ 6 ลำ
4. ประเทศเมียนมา จะมีเรือผิวน้ำติดอาวุธปล่อยนำวิถี 38 ลำ เรือดำน้ำ 4 ลำ