ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ปภ.ชี้ท้องถิ่นช่วยเฝ้าระวัง การเตือนภัยจะชัวร์ขึ้น

ภัยพิบัติ
27 ม.ค. 60
16:51
490
Logo Thai PBS
ปภ.ชี้ท้องถิ่นช่วยเฝ้าระวัง การเตือนภัยจะชัวร์ขึ้น
มหาอุทกภัย 12 จังหวัดใต้ หลายปมเตือนภัย มีทั้งไม่มีระบบเตือน และเตือนแล้วชาวบ้านขาดความตระหนัก ปภ.ชี้คนในท้องถิ่นช่วยเฝ้าระวังจะคาดการณ์ได้แม่นยำขึ้น เนื่องจากรู้จักพื้นที่ดี

แจ้งเตือนครั้งล่าสุด “พายุลินดา” 40 ปีมาแล้ว

“เตือนครั้งล่าสุดที่ชาวบ้านเขารู้ก็ตอนพายุลินดาเข้า ปี 40 ส่วนน้ำท่วมครั้งนี้ชาวบ้านไม่ค่อยรู้เรื่อง” นางจินตนา แก้วขาว ชาวบ้าน ม.2 ต.ธงไชย อ.บางสะพาน กล่าว

นางจินตนา เล่าว่า ในช่วงที่เกิดฝนตกหนักที่ผ่านมาไม่เคยได้รับการแจ้งเตือนใดๆ จากหน่วยงานในพื้นที่ ทั้งผู้ใหญ่บ้าน หรือ อบต.เป็นต้น แม้ว่าบ้านของตนจะอยู่ห่างจากตัวเทศบาลไม่เกิน 3 กิโลเมตร ห่างจากบ้านผู้ใหญ่บ้าน 100 เมตร ยืนยันไม่มีใครแจ้งเตือนใดใดทั้งสิ้น ชาวบ้านในพื้นที่ได้แต่สังเกตสถานการณ์กันเอง เพราะฝนตกหนักมากเก็บข้าวของไม่ทันได้รับความเสียหาย

“เพื่อนในเฟชบุ๊คโพสต์ภาพน้ำท่วม ก็คิดว่าไม่นานถึงบ้านเราแน่ๆ เพราะตรงนั้นเป็นพื้นที่ต้นน้ำ วันนั้นกังวลมากเร่งเก็บข้าวของขึ้นที่สูงหลายครั้ง เพราะมีข่าวลือเรื่องเขื่อนแตกด้วยเช่นกัน พูดได้ว่าคืนนั้นไม่ได้นอนเพราะฝนตกหนักต่อเนื่องด้วย พร้อมกับเตรียมตัวอพยพตลอดเวลา อยู่ในพื้นที่มากว่า 30 ปี ได้ยินการแจ้งเตือนครั้งสุดท้ายก็เมื่อตอนพายุลินดาเมื่อปี 2540” นางจินตนา กล่าว

ขณะที่นางแอนนา คงดี ผู้ใหญ่บ้าน ม.2 ต.ธงไชย อ.บางสะพาน จ.ประจวบคีรีขันธ์ บอกว่า แม้จะรู้ข่าวการแจ้งเตือนภัยให้เฝ้าระวัง แต่ในหมู่บ้านไม่มีระบบเตือนภัยหรือระบบการประกาศข้อมูลข่าวสารให้ทุกคนได้รู้ เช่น หอกระจายข่าว จึงใช้วิธีการไปแจ้งที่บ้านเป็นหลังๆ เท่านั้น ประชาชนจึงไม่ได้เตรียมตัว หลายคนไม่คิดว่าเหตุการณ์จะรุนแรงขนาดนี้จึงไม่ได้มีการอพยพ

ส่วนที่จังหวัดนครศรีธรรมราช นางอารมณ์ พราหมโณ ชาวบ้าน หมู่ 9 ต.ชะอวด อ.ชะอวด บอกว่า ที่ผ่านมาช่วงที่ฝนตกหนักทางเทศบาลตำบลชะอวดจะมีการแจ้งเตือนภัยชาวบ้านผ่านรถติดเครื่องขยายเสียงให้ชาวบ้านได้เตรียมความพร้อมรับมือกับสถานการณ์น้ำที่ตอนนั้นเริ่มสูงขึ้น ให้ชาวบ้านขนของขึ้นที่สูง แต่ก็ไม่สามารถรับมือน้ำได้ทัน เพราะปีนี้ฝนตกหนัก ขณะที่เพื่อนของตนเองที่อยู่ในหมู่บ้านนอกเขตเทศบาล ก็บอกว่าการแจ้งเตือนไปไม่ถึงชาวบ้านจึงได้รับผลกระทบหนักไม่ต่างกัน

 

 

หลายพื้นที่มีเตือน แต่ประชาชนไม่ตื่นตัว

 น.ส.วัจนา วัจนคุปต์ หัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดชุมพร กล่าวว่า ปภ.ในพื้นที่มีการตั้งกรุ๊ปไลน์เตือนภัย ซึ่งมีสมาชิกเป็น เจ้าหน้าที่ ปภ.จังหวัด เจ้าหน้าที่กู้ภัย กรมทรัพยากรน้ำ กรมทรัพยากรธรณี กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน สมาชิก อบต. เป็นต้น รวมถึงอาสาสมัครในพื้นที่ แลกเปลี่ยนข้อมูล แจ้งข่าว โดยสมาชิกจะไปแจ้งเตือนให้ประชาชนในพื้นที่ผ่านทางหอกระจายข่าวของหมู่บ้าน รถเครื่องขยายเสียง สถานีวิทยุท้องถิ่น

 

อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาชาวบ้านในพื้นที่เสี่ยงภัยยังคงไม่ตื่นตัวกับการแจ้งเตือนภัยต่างๆ ของเจ้าหน้าที่เท่าที่ควร เพราะหลายคนไม่คิดว่าจะเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นหนัก จนทำให้เกิดความเสียหายแก่ชีวิตและทรัพย์สิน จึงอยากให้ประชาชนได้ตระหนักถึงภัยต่างๆที่อยู่รอบตัว และเตรียมพร้อมเฝ้าระวัง ติดตามฟังข้อมูลข่าวสารเจ้าหน้าที่ในพื้นที่อย่างใกล้ชิด และหากมีการพบเห็นหรือแชร์ข้อมูลผ่านไลน์ในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับสถานการณ์น้ำท่วม เช่น เขื่อนแตก เป็นต้นอยากให้มีการตรวจสอบรายละเอียดให้รอบคอบก่อนแชร์ เพื่อไม่ให้เกิดความตื่นตระหนกกับบุคคลอื่นๆ ด้วย

 

 

ปภ.ชี้ ท้องถิ่นช่วยเฝ้าระวัง จะชัวร์ขึ้น

 นายกอบชัย บุญอรณะ รองอธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กล่าวว่า ระบบการแจ้งเตือนภัยพิบัติของไทยปัจจุบันถือว่ามีประสิทธิภาพ แต่ต้องการให้ระบุช่วงเวลาการเกิดเหตุให้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น โดยทางกรมอุตุนิยมวิทยาจะประกาศเตือนภัยพิบัติล่วงหน้า จากนั้นส่วนกลาง เช่น ทางจังหวัด อำเภอ จะส่งข้อมูลให้กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน แจ้งเตือนชาวบ้านในพื้นที่ ผ่านช่องทางวิทยุกระจายเสียง เสียงตามสาย หรืออาสาสมัคร ซึ่งถือเป็นกลไกสำคัญที่สุดในการส่งข้อมูลให้ชาวบ้านรู้ถึงสถานการณ์และเตรียมพร้อมรับมือภัยพิบัติ รวมทั้งเฝ้าระวังติดตามสถานการณ์ เช่น สังเกตสิ่งผิดปกติตามธรรมชาติ ปริมาณน้ำในคลองที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง สีของน้ำข้นขึ้น หรือมีกิ่งไม้ปะปน ก็ควรขนย้ายทรัพย์สินขึ้นที่สูง หรืออพยพออกจากพื้นที่

นอกจากนี้ กลไกในพื้นที่เป็นสิ่งสำคัญมาก และถึงแม้ว่ากรมอุตุนิยมวิทยาอาจจะชี้เป้าพื้นที่ไม่ได้ละเอียดเป็นรายตำบล หรือชุมชน ซึ่งกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน หรือชาวบ้านที่รู้ลักษณะพื้นที่ต้องช่วยกันเฝ้าระวัง ติดตามสถานการณ์ เช่น ฝนตกหนักต่อเนื่องก็ต้องประมาณการณ์ว่า น้ำจะล้นจากคลองภายในกี่ชั่วโมง พื้นที่ใดจะได้รับผลกระทบ อาจเป็นการช่วยลดความสูญเสียได้อีกทางหนึ่ง

 

คาด มีแอพฯเตือนภัย จะดีขึ้น

นายมงคล หลักเมือง ผู้อำนวยการสำนักวิจัย พัฒนาและอุทกวิทยา กรมทรัพยากรน้ำ กล่าวว่า กรมทรัพยากรน้ำได้ช่วยให้ข้อมูลประเมินสถานการณ์ความเสี่ยงในพื้นที่ โดยได้มีการบูรณาการข้อมูล ก่อนแจ้งเตือนประสานงานกับทางฝ่ายปกครองในพื้นที่ให้เตรียมพร้อมเฝ้าระวัง ตลอดจนแจ้งเตือนผ่านทางหอกระจายข่าว รถขยายเสียง ให้ประชาชนเตรียมความพร้อม อพยพ แต่ความเสียหายที่เกิดขึ้นหลายครั้งเกิดจากบางส่วนไม่ยอมอพยพเพราะเป็นห่วงทรัพย์สิน และไม่คิดว่าสถานการณ์จะเลวร้ายขนาดนั้น ความสูญเสียก็เกิดขึ้นได้ อย่างไรตามในอนาคตอาจจะมีการพัฒนาแอปพลิเคชั่นแจ้งเตือน เพื่อให้ข้อมูลสามารถเข้าถึงผู้ปประสบภัยในพื้นที่ได้เร็วและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

ข่าวที่เกี่ยวข้อง