เมื่อวานนี้ (19 ม.ค.2560) นายเลิศวิโรจน์ โกวัฒนะ รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงการช่วยเหลือเร่งด่วนด้านการเกษตร โดยกรมชลประทานส่งเครื่องสูบน้ำลงพื้นที่ทั้งสิ้น 286 เครื่อง พร้อมเครื่องผลักดันน้ำ และเครื่องสูบน้ำด้วยไฟฟ้า ด้านกรมปศุสัตว์ลำเลียงเสบียงสัตว์ลงพื้นที่ไปแล้วเกือบ 500,000 กิโลกรัม และอาหารสำเร็จอีกเกือบ 200,000 กิโลกรัม ขณะที่ด้านกรมประมงส่งเรือตรวจการลงไปปฏิบัติการในพื้นที่ 50 ลำ และกรมฝนหลวง เตรียมอากาศยานไปปฏิบัติการ 5 ลำ ส่วนการบริการด้านสุขภาพปศุสัตว์ กรมปศุสัตว์ได้อพยพสัตว์ไปแล้วกว่า 900,000 ตัว ดูและและรักษาสัตว์อีกจำนวนหนึ่ง
การช่วยเหลือฟื้นฟูเกษตรกรที่ประสบอุทกภัยภาคใต้ หรือ Road Map ถูกแบ่งออกเป็น 3 ระยะ 1. ระยะเร่งด่วน คือ การฟื้นฟูหลังน้ำลด จะจัดทีมวิชาการ หรือ คลินิกเกษตรเคลื่อนที่ เพื่อแนะนำดูแลผลิตผลทางการเกษตร และจะอธิบายให้เข้าใจมาตรการช่วยเหลือของรัฐ เช่น มาตรการช่วยเหลือเยียวยา ครัวเรือนละ 3,000 บาท รวมทั้งร่งระบายน้ำออกจากพื้นที่ลุ่มต่ำ บำบัดน้ำเสียและขจัดกลิ่นเหม็น
จากนั้นจะเข้าสู่ระยะที่ 2 การฟื้นฟูซ่อมสร้าง ปรับปรุงบำรุงดิน และซ่อมแซมระบบชลประทาน สนับสนุนสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำเพื่อการลงทุน และการเยียวยาระยะยาว คือการพัฒนาก่อสร้างแหล่งกักเก็บ การพัฒนาระบบพยากรณ์และแจ้งเตือนภัย และระบบการประเมินความเสียหายต่างๆ
ทั้งนี้ ในสัปดาห์หน้า พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จะนำแผนช่วยเหลือเกษตรกรผู้ประสบภัยพิบัติภาคใต้เสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี โดยดำเนินการให้เกิดความยั่งยืน