ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ครม.-คสช.รับทราบคืบหน้าตั้ง ป.ย.ป.-แก้ร่างรัฐธรรมนูญ

การเมือง
17 ม.ค. 60
11:53
200
Logo Thai PBS
ครม.-คสช.รับทราบคืบหน้าตั้ง ป.ย.ป.-แก้ร่างรัฐธรรมนูญ
การประชุม ครม.มี 2 วาระสำคัญที่ต้องพิจารณาเห็นชอบเพื่อช่วยเหลือเยียวยาผู้ประสบภัยน้ำท่วมในพื้นที่ภาคใต้ ขณะเดียวกัน การประชุม คสช.เมื่อช่วงเช้ามี 2 ประเด็นที่ต้องติดตามความคืบหน้า นั่นคือการเดินหน้าแก้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และการตั้งคณะกรรมการ ป.ย.ป.

วันนี้ (17 ม.ค.2560) ก่อนจะเป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้า คสช.เป็นประธานการประชุม คสช. โดยมีรายงานว่า ที่ประชุมจะได้หารือถึงโครงสร้างการทำงานของคณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินตามกรอบการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความสามัคคีปรองดอง (ป.ย.ป.) โดยรองนายกรัฐมนตรี ทั้ง พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย ในฐานะกำกับดูแลการเตรียมการด้านยุทธศาสตร์, นายวิษณุ เครืองาม ในฐานะกำกับดูแลการเตรียมการด้านการบริหารราชการ, พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง ในฐานะกำกับดูแลการเตรียมด้านการปฏิรูปประเทศ และ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ในฐานะกำกับดูแลการเตรียมการด้านการปรองดองสมานฉันท์ จะได้รายงานสรุปความคืบหน้าในการเตรียมการในแต่ละด้าน โดยในการเตรียมการนั้น

นอกจาก พล.อ.ประวิตร จะยืนยันถึงแนวทางการสร้างความปรองดอง ที่จะผลักดันรูปแบบการทำข้อตกลงแล้ว พลอากาศเอกประจิน ได้หารือโดยตรงกับ สนช. และ สปท.เพื่อกำหนดแนวทางร่วมกัน และเสนอให้เพิ่มบทบาทคณะกรรมาธิการประสานงาน หรือ วิป 3 ฝ่าย คือ ครม., สนช. และ สปท.ด้วยการให้เป็นส่วนหนึ่งของคณะกรรมการเตรียมการปฏิรูปประเทศ เพื่อประสานงานด้านการปฏิรูปไปด้วย

มีความคืบหน้าในเรื่องโครงสร้างของคณะกรรมการ ป.ย.ป. โดย พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลโหม เปิดเผยว่า ได้ข้อสรุปในโครงสร้างการทำงานแล้ว แต่อยู่ระหว่างการพิจารณาตัวบุคคล และด้วยความตั้งใจจริงของรัฐบาล และกระแสตอบรับจากฝ่ายการเมือง จึงเชื่อมั่นว่าการขับเคลื่อนตามโครงสร้างจะสัมฤทธิ์ผล

ที่ประชุม คสช.ยังได้หารือถึงแนวทางการแก้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ให้สอดคล้องกับข้อบัญญัติของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว ปี 2557 ฉบับแก้ไขเพิ่มเติมครั้งที่ 3 กรณีนายกรัฐมนตรี เตรียมทูลเกล้าทูลกระหม่อม ขอพระราชทานร่างรัฐธรรมนูญคืนในวันนี้

และการพิจารณาตั้งคณะกรรมการยกร่างแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยนายวิษณุ ได้ขอพิจารณาเพิ่มเติมกรรมการอีก 1 คน คือนายนรชิต สิงหเสนี ทำให้คณะกรรมการชุดพิเศษชุดนี้ จะมีคณะกรรมการรวม 11 คน โดยมีนายปกรณ์ นิลประพันธ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกาและเลขานุการ กรธ.เป็นเลขานุการ

ส่วนการประชุม ครม.ยังคงเน้นการให้ความช่วยเหลือประชาชนที่ประสบอุทกภัยในพื้นที่ภาคใต้ ทั้งการช่วยเหลือการลดภาระทางภาษี ประชาชน ผู้ประกอบการ สามารถนำค่าใช้จ่ายจากการซ่อมแซมที่อยู่อาศัยและสำนักงาน มาลดหย่อนภาษีได้สูงสุด 100,000 บาท

ส่วนเกษตรกรที่ได้รับความเสียหาย ธ.ก.ส.จะออกมาตรการช่วยเหลือ ทั้งการให้กู้เงินเพื่อฟื้นฟู 50,000 บาท อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 0 นาน 6 เดือน ขยายเวลาการชำระหนี้นาน 2 ปี และการปล่อยกู้เพิ่มเติมตามความจำเป็น สูงสุด 300,000 บาท รวมถึงธนาคารออมสินเสนอปรับเงื่อนไขในวงเงินสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำสำหรับผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดเล็ก (เอสเอ็มอี) ที่ประสบอุทกภัยภาคใต้

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง