ปกติแล้วเวลามีน้ำท่วมบางสะพาน จ.ประจวบคีรีขันธ์ ส่วนใหญ่จะเป็นน้ำที่หลากลงมาจากเขาเท่านั้น แต่ปีนี้มีฝนตกในเขตเมืองหนัก ทำให้น้ำที่ท่วมในพื้นที่มีมากกว่า 1 ปัจจัย แม้น้ำทะเลจะไม่ได้หนุนมากเท่ารอบที่แล้ว แต่ทำให้เมืองแอ่งกะทะอย่างบางสะพาน ที่อยู่ระหว่างเขากับทะเลแทบหมดทางเลี่ยง
บางสะพานมีลักษณะทางกายภาพในรูปแบบของพื้นที่ลาดเอียงจากเนินเขาสู่ชายทะเล โดยมีถนนเพชรเกษมแบ่งพื้นที่ออกเป็น 2 ฝั่ง โดยด้านทิศตะวันตกเป็นแนวเขาตะนาวศรี เป็นที่ตั้งของอ่างเก็บน้ำขนาดเล็ก 3 อ่าง คืออ่างเก็บน้ำคลองลอย อ่างเก็บน้ำโป่งสามสิบ และไกลออกไปจะเป็นอ่างเก็บน้ำวังน้ำเขียว ทั้ง 3 อ่างเป็นอ่างดินขนาดเล็ก ปกติถ้าฝนตกลงมาอ่างเก็บน้ำจะช่วยเก็บน้ำไว้ได้ไม่มาก เพื่อดูแลพื้นที่การเกษตรประมาณ 500 ไร่ แต่ถ้าหากมีมากจะปล่อยมาตามสปิลเวย์เพื่อระบายลงสู่คลองสาขาต่างๆ
เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม 2559 บางสะพานเพิ่งจะมีฝนตกหนัก น้ำล้นอ่างลงมาแล้วรอบหนึ่ง จนเกิดปัญหาน้ำป่าท่วมโรงพยาบาลบางสะพาน น้ำในครั้งนั้นยังคงถูกเก็บไว้ในอ่าง เมื่อฝนระลอกใหม่ตกลงมาติดต่อกัน 24 ชั่วโมง นาน 3 วัน ชลประทาน รายงานว่า วันที่ 8 ม.ค.ฝนตก 165 มม.ต่อ ชม.และวันที่ 9 ม.ค.ฝนตก 350 มม.ต่อ ชม. ทำให้น้ำไม่ได้ถูกระบายออกจากสปิลเวย์เพียงอย่างเดียว เพราะยังล้นสันอ่างด้วย
น้ำที่หลากมาทางออกคือทะเล แต่น้ำจะยังไปไม่ถึงทะเลทันที เพราะน้ำจะมาบรรจบกับคลองบางสะพานที่บริเวณถนนเพชรเกษม บริเวณแยกวังยาว ซึ่งครั้งนี้เกิดปัญหาคอสะพานขาด และน้ำที่มาบรรจบกันรวมตัวมุ่งหน้าไปยังตัวเมือง จุดนี้น้ำไม่ได้ไหลแบนๆ ลงทะเลในทางออกทั้ง 2 จุดได้ทันที ต้องผ่านสิ่งก่อสร้างต่างๆ เช่น โรงพยาบาล หรือถนนก่อน
เมื่อไปถึงตัวเมืองมีลักษณะเป็นแอ่งกะทะและไปเจอกับน้ำทะเลหนุนจึงทำให้น้ำไม่มีที่ไป แต่น่าสังเกตว่าครั้งนี้น้ำทะเลหนุนน้อยกว่าเมื่อ ธ.ค. และคลองบางสะพานบางส่วนก็ใหญ่ขึ้น เพราะถูกน้ำเซาะ แต่ทำไมผลกระทบรุนแรง นั่นเป็นเพราะในเขตเมืองก็มีฝนตกลงมาต่อเนื่องทั้ง 3 วันเช่นกัน ทำให้ในครั้งนี้อำเภอบางสะพานเจอศึกใหญ่ ทั้งน้ำฝนในเขตเมือง และน้ำป่าที่ไหลบ่าลงมา โดยมีทางออกคือ คลองบางสะพานเท่านั้น
ถ้ามีทางน้ำที่ชลประทานก็มองเห็นจุดอ่อนอยู่แล้ว ในพื้นที่มีกลไกการระบายน้ำของชลประทานอยู่บ้างหรือไม่ ต้องตอบว่าไม่มี เพราะคลองบางสะพาน ก็ไม่มีประตูระบายน้ำ แต่ในอดีต ปี 2548 ที่เคยเกิดเหตุการณ์น้ำท่วมครั้งใหญ่ในปีถัดมาสำนักชลประทานในพื้นที่ได้เดินหน้าขุดลอกคลอง และมีแผนสร้างคลองบายพาสระยะประมาณ 4-5 กิโลเมตร เพื่อระบายน้ำลงสู่ทะเลโดยตรง แต่โครงการถูกคัดค้านทำให้ต้องล้มไป