วันนี้ (8 ม.ค.2560) ทีมปฏิบัติการการแพทย์ฉุกเฉินจาก จ.พังงา กระบี่ ภูเก็ต ระนอง ซึ่งเป็นหน่วยแพทย์เคลื่อนที่สนับสนุนลงพื้นที่ดูแลผู้ประสบภัยน้ำท่วม จ.นครศรีธรรมราช เพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยฉุกเฉินขั้นต้นทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต ก่อนส่งรักษาต่อ โดยสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดในพื้นที่ ได้ส่งทีมแพทย์เคลื่อนที่ออกให้บริการ ณ จุดต่างๆ รวมถึงศูนย์อพยพรวม 64 ทีม มีผู้รับบริการประมาณ 10,000 คน
นพ.โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า ล่าสุดโรงพยาบาลที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม สามารถเปิดให้บริการตามปกติแล้ว เช่น ที่โรงพยาบาลชะอวด มีผู้ป่วยวิกฤติ 8 คน ได้ส่งไปยังโรงพยาบาลมหาราชนครศรีธรรมราช เหลือผู้ป่วยในจำนวน 40 คน สามารถดูแลได้ทั้งหมด ส่วนโรงพยาบาลหลังสวน มีผู้ป่วยใน 70 คน ผู้ป่วยวิกฤติ 9 คน ซึ่งแพทย์สามารถให้การดูแลได้ตามปกติ ขณะที่โรงพยาบาลมหาราชนครศรีธรรมราชขณะนี้สามารถรับ-ส่งต่อผู้ป่วยจากโรงพยาบาลอื่นได้ และเปิดให้บริการตามปกติแล้วเช่นกัน สำหรับกรณีผู้ป่วยติดเตียง ผู้พิการ ผู้สูงอายุที่ไม่ช่วยเหลือตัวเองได้ หรือผู้ป่วยโรคเรื้อรังที่ติดอยู่ในบ้านน้ำท่วม ไม่สามารถเดินทางมาพบแพทย์ได้ตามนัด หรือรับยาได้ สามารถขอความช่วยเหลือจากเจ้าหน้าที่ และอาสาสมัครสาธารณสุข หรือโทรศัพท์สายด่วน 1669 ตลอด 24 ชั่วโมง
ด้านกรมสุขภาพจิตได้ส่งทีมช่วยเหลือเยียวยาจิตใจผู้ประสบภาวะวิกฤต (MCATT) จากโรงพยายาลสวนสราญรมย์ ศูนย์สุขภาพจิตที่ 11 โรงพยาบาลจิตเวชสงขลาราชนครินทร์ และศูนย์สุขภาพจิตที่ 12 ทำงานร่วมกับพื้นที่ เพื่อประเมินผลกระทบ และดูแลช่วยเหลือสภาพจิตใจผู้ประสบภัย โดยเน้นเยียวยาครอบครัวผู้เสียชีวิตและผู้สูญหายจากน้ำท่วม หลังพบประชาชนที่ได้รับผลกระทบน้ำท่วม ส่วนใหญ่อยู่ในภาวะเครียด แบ่งได้เป็น 3 กลุ่ม คือ กลุ่มแรก มีอาการเครียดจากภาวะน้ำท่วม กลุ่มที่ 2 มีอาการเครียดจากปัญหาผลกระทบต่อมาจากน้ำท่วม
และกลุ่มที่ 3 กลุ่มที่คาดว่าน้ำกำลังไปถึงพื้นที่ ซึ่งปฏิกิริยาความเครียดที่พบ คืออารมณ์เบื่อหน่าย ท้อแท้ ไม่มีสมาธิ ร่วมกับอาการทางกาย เช่น ปวดศีรษะ ปวดต้นคอ ท้ายทอย ใจสั่น นอนไม่หลับ ตามระดับความเครียดของแต่ละคน และจากการคัดกรองปัญหาสุขภาพจิตผู้ประสบภัย ณ ศูนย์พักพิง จ.นราธิวาส จำนวน 309 คน จาก 69 ครัวเรือน พบมีภาวะเครียดสูง 12 คน จำนวนนี้มีภาวะเครียดจากเหตุน้ำท่วม 4 คน ภาวะซึมเศร้า 2 คน ภาวะซึมเศร้าร่วมกับคิดฆ่าตัวตาย 1 คน ปัญหาโรคจิตเวชเดิม 5 คน ซึ่งจัดเป็นกลุ่มเสี่ยงต่อปัญหาสุขภาพจิต โดยทั้งหมดทีมจะติดตามดูแลเฝ้าระวังอาการอย่างต่อเนื่อง จนกลับสู่ภาวะปกติ
ทั้งนี้ กรมสุขภาพจิตแนะผู้ประสบภัย ควรมีสติ อย่าหมดกำลังใจ และพยายามหากิจกรรมทำ เช่น พูดคุยกับคนใกล้ชิด หรือเพื่อน สวดมนต์ไหว้พระ เคลื่อนไหวร่างกายเท่าที่ทำได้ในพื้นที่จำกัด เช่น การยืดเหยียด บริหารร่างกายๆ ก้มๆ เงยๆ บำเพ็ญประโยชน์ และช่วยเหลือกันและกันภายในชุมชน