จากกรณีที่นักวิชาการวิเคราะห์สาเหตุปัญหาน้ำท่วมภาคใต้ว่าส่วนหนึ่งคือพื้นที่ป่าไม้หายไป การเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ที่ดิน และ ผังเมืองนั้น
วันนี้ ( 7 ม.ค.2560) แหล่งข่าวจากกรมป่าไม้ ระบุว่า คงไม่สามารถปฏิเสธได้ว่าป่าที่หายไปจำนวนมากและเปลี่ยนเป็นสวนยางพาราและสวนปาล์มน้ำมัน ทำให้เกิดปัญหาเวลามีฝนตกหนัก น้ำป่าไหลหลากลงมาในเขตเมืองจึงรุนแรงเพราะไม่มีป่าคอยชะลอการไหลของน้ำ ซึ่งจากข้อมูลแม้จะมีปัจจัยจากฝนที่ตกหนักในพื้นที่นาน จนมีปริมาณฝนสะสม 400-600 มิลลิเมตร แต่ต้องยอมรับว่า มีปัจจัยจากป่าไม้ที่หายไป รวมถึงการเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ที่ดิน ที่ผ่านมาเคยเกิดปัญหาน้ำป่าหลากจากเทือกเขาลงมา ดินโคลนถล่มสร้างความเสียหาย ก็มีการรณรงค์ให้ปลูกป่า
ก่อนหน้านี้ในช่วงปี 2559 กรมป่าไม้ มอบหมายให้สำนักจัดการที่ดินป่าไม้ สำรวจข้อมูลสภาพพื้นที่ป่าไม้ระหว่างปี 2557-2558 ซึ่งก่อนหน้าเคยสำรวจครั้งสุดท้ายปี 2551 มีข้อมูลว่าพื้นที่ป่าไม้เหลือเพียง 102 ล้านไร่ หรือร้อยละ 31.57 ของพื้นที่ประเทศ เทียบกับข้อมูลปี 2551 มีประมาณ 108 ล้านไร่ หมายความว่าพื้นที่ป่าไม้ลดลงกว่า 6 ล้านไร่ หรือ ร้อยละ 2.37 หรือเฉลี่ยลดลงปีละกว่า 1 ล้านไร่
สำหรับพื้นที่ภาคใต้ 14 จังหวัด พื้นที่ทั้งหมด 46 ล้านไร่ พบพื้นที่ป่าไม้ 11 ล้านไร่ คิดเป็นร้อยละ 23 จังหวัดที่มีสัดส่วนพื้นที่ป่าไม้เทียบกับพื้นที่จังหวัดมากที่สุด ได้แก่ ระนอง ร้อยละ 53 รองลงมาคือ สตูล ร้อยละ 39 ยะลา ร้อยละ 32 พังงา ร้อยละ 31 สุราษฎร์ธานี ร้อยละ 28 นราธิวาส ร้อยละ 26 ตรัง ร้อยละ 22ชุมพร ร้อยละ 21 ภูเก็ต ร้อยละ 20 นครศรีธรรม ราช ร้อยละ 17 กระบี่ ร้อยละ 16 พัทลุง ร้อยละ 15 สงขลา ร้อยละ 11 และปัตตานี ร้อยละ 5