วันนี้ (6 ม.ค.2560) นพ.โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ได้รับรายงานจากศูนย์ปฏิบัติการป้องกันและแก้ไขปัญหาสาธารณภัย ด้านการแพทย์และการสาธารณสุขว่า ยังมีพื้นที่น้ำท่วม 6 จังหวัด ได้แก่ นครศรีธรรมราช สุราษฏร์ธานี พัทลุง นราธิวาส ยะลา และสงขลา โดยมีสถานบริการได้รับผลกระทบ 65 แห่งสถานการณ์เริ่มคลี่คลายเริ่มเปิดให้บริการตามปกติแล้ว ทั้งนี้ได้สั่งการให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดโรงพยาบาลในพื้นที่ประสบภัยออกหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ให้บริการประชาชน ให้ความรู้เรื่องการป้องกันโรคที่อาจเกิดขึ้นในช่วงน้ำท่วม การดูแลตัวเอง และบุคคลในครอบครัว การจัดการสุขาภิบาลบริเวณบ้าน สุขภาวะส่วนบุคคล
ทั้งนี้ การออกเยี่ยมผู้ป่วยติดบ้านติดเตียง และผู้ป่วยในพระบรมราชานุเคราะห์ 1,114 คน โดยส่วนกลางสนับสนุนยาและเวชภัณฑ์เป็นยาชุดช่วยเหลือผู้ประสบภัย 111,000 ชุด ยาน้ำกัดเท้า 65,000 ชุด และอยู่ระหว่างจัดส่งเพิ่มเติมอีก 52,000 ชุด เพื่อนำไปแจกจ่ายแก่ประชาชนและผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่เกิดอุทกภัย
ตั้งแต่วันที่ 1 ธ.ค.2559-3 ม.ค.2560 ในพื้นที่สถานการณ์อุทกภัยภาคใต้พบว่ามีผู้เสียชีวิต 37 คน แยกเป็นพลัดตกน้ำ 6 คน จมน้ำ 31 คน ใน 7 จังหวัด ได้แก่ นครศรีธรรมราช 12 คน สงขลา 8 คน ปัตตานี 6 คน สุราษฏร์ธานี 5 คน พัทลุง 4 คน ประจวบคีรีขันธ์และตรัง จังหวัดละ 1 คน มีผู้ได้รับบาดเจ็บ 616 คน จากสาเหตุลื่นล้ม ของมีคมในน้ำบาดและสัตว์ที่หนีน้ำกัด เป็นต้น
นอกจากนี้ การประเมินปัญหาสุขภาพจิตของทีมช่วยเหลือเยียวยาจิตใจผู้ประสบอุทกภัยภาคใต้จำนวน 6,884 คน พบมีความเครียดจากน้ำท่วม 97 คน อาการซึมเศร้า 71 คน เสี่ยงฆ่าตัวตาย 32 คน และที่ต้องได้รับการดูแลเป็นพิเศษ 32 คน ในพื้นที่ จ.นราธิวาส และจ.สงขลา ขณะนี้ได้ส่งผู้เกี่ยวข้องเข้าให้การดูแลแล้ว
ทั้งนี้ ประชาชนที่อาศัยในพื้นที่เกิดภัยขอให้ติดตามข้อมูลสภาพอากาศประกาศแจ้งเตือนภัยอย่างใกล้ชิด ปฏิบัติตามคำเตือนอย่างเคร่งครัด จัดเตรียมเครื่องใช้ที่จำเป็นไว้ใช้ในช่วงน้ำท่วม โดยเฉพาะเครื่องอุปโภคบริโภค น้ำดื่มสะอาด ยารักษาโรค เป็นต้น และให้เตรียมวัสดุที่สามารถลอยน้ำได้ เช่น แกลลอนพลาสติก ขวดน้ำพลาสติก ลูกมะพร้าว ยางในรถยนต์ สำหรับใช้ยึดเกาะพยุงตัวขณะลุยน้ำท่วม