ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ข่าวเด่น 2559 : ความเสี่ยงหญิงตั้งครรภ์ติดเชื้อไวรัสซิกา

สังคม
28 ธ.ค. 59
22:09
833
Logo Thai PBS
ข่าวเด่น 2559 : ความเสี่ยงหญิงตั้งครรภ์ติดเชื้อไวรัสซิกา
ปี 2559 หญิงตั้งครรภ์ต้องดูแลกันเป็นพิเศษจากสถานการณ์ไวรัสซิการะบาดในไทย ผลการศึกษาพบว่าถ้าหญิงตั้งครรภ์ติดเชื้อ มีโอกาสทำให้เด็กเกิดมามีศีรษะเล็ก และที่น่ากังวลคือปี 2560 กรมควบคุมโรคคาดว่าการระบาดจะเกิดในช่วงฤดูฝนจะไม่ต่างจากปีนี้

ในแต่ละวันจะมีหญิงตั้งครรภ์เข้ามาตรวจครรภ์ที่โรงพยาบาลวชิรพยาบาล สังกัดกรุงเทพมหานคร (กทม.) เฉลี่ย 100-120 คน ช่วงนี้โรงพยาบาลมีการให้คำแนะนำกับมารดาทุกคนที่เข้ามาฝากครรภ์เกี่ยวกับสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสซิกา พร้อมกับบอกวิธีป้องกัน

หญิงตั้งครรภ์หลายคนยอมรับว่ากังวลเกี่ยวกับโรคติดเชื้อไวรัสซิกา ที่กลายเป็นโรคประจำถิ่นในประเทศไทย และยิ่งองค์การอนามัยโลกยืนยันแล้วว่าโรคนี้ หากติดเชื้อในหญิงตั้งครรภ์แล้ว มีโอกาสเสี่ยงที่จะทำให้ทารกผิดปกติได้

สอดคล้องกับคณะกรรมการด้านวิชาการโรคติดเชื้อไวรัสซิกา กรมควบคุมโรค ที่แถลงยืนยันเมื่อวันที่ 30 กันยายนที่ผ่านมาว่า ไทยพบทารกที่คลอดจากมารดาติดเชื้อไวรัสซิกา มีความผิดปกติศีรษะเล็ก 2 คน เป็นครั้งแรกของประเทศ คณะกรรมการชุดนี้จึงเสนอให้ตั้งคณะกรรมการจัดทำแนวทางของหญิงตั้งครรภ์ที่สงสัยติดเชื้อไวรัสซิกา โดยมี รศ.พิเศษ นพ.ทวี โชติพิทยสุนนท์ ผู้ทรงคุณวุฒิ สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี เป็นประธาน และเปิดเผยว่าจากการศึกษาทั่วโลกผู้ที่ติดเชื้อไวรัสซิการ้อยละ 80 จะไม่แสดงอาการ ส่วนที่เหลืออาจมีอาการอักเสบของจอประสาทตา และเส้นประสาทหู ซึ่งอาการสามารถหายเองได้

แต่สิ่งที่กุมารแพทย์ทั่วโลกกังวลคือ หญิงตั้งครรภ์ที่ติดเชื้อไวริสซิกา เพราะอาจทำให้ทารกเกิดความผิดปกติทางสมองร้อยละ 1 ในมารดาที่ติดเชื้อช่วงใกล้คลอด ถึงร้อยละ 30 ในมารดาที่ติดเชื้อระหว่างตั้งครรภ์ช่วง 2-3 เดือนแรก และกว่าจะยืนยันได้ว่าทารกในครรภ์มีความผิดปกติทางสมองหรือศีรษะเล็ก ต้องมีอายุครรภ์อย่างน้อย 6-7 เดือนไปแล้ว ซึ่งอายุครรภ์นี้อาจไม่สามารถยุติการตั้งครรภ์ได้

การศึกษาล่าสุด โดยวิธีติดตามเด็กที่คลอดจากมารดาติดเชื้อไวรัสซิกา แต่ไม่มีภาวะศีรษะเล็ก 13 คน ในประเทศบราซิล พบว่าเด็กกลุ่มนี้กลับมีความผิดปกติด้านพัฒนาการทางสมองตามมา

ประเทศไทยมีรายงานผู้ติดเชื้อไวรัสซิกาครั้งแรกเมื่อปี 2555 และยังพบผู้ป่วยมาตลอดทุกปี โดยในปี 2559 นี้ พบผู้ป่วยรายใหม่สัปดาห์ละ 30-40 คน กระจายใน 10 จังหวัด กรมควบคุมโรคจึงประกาศให้โรคติดเชื้อไวรัสซิกาเป็นโรคติดต่อที่ต้องแจ้งความลำดับที่ 23 ตามกฎหมายโรคติดต่อ ปี 2523 ส่วนหญิงตั้งครรภ์ที่ติดเชื้อไวรัสซิกา ตั้งแต่ต้นปี 2559 พบทั้งหมด 80 คน ในจำนวนนี้คลอดแล้ว 40 คน ทารกที่คลอดมีอาการปกติ แต่จากรายงานในประเทศบราซิล ทำให้กรมควบคุมโรคต้องติดตามเด็กที่คลอดแล้วไปอีก 2 ปี เพื่อดูพัฒนาการทางสมอง

ในปี 2560 กรมควบคุมโรคคาดการณ์ว่าโรคติดเชื้อไวรัสซิกาจะระบาดเทียบเท่ากับปีนี้ โดยเฉพาะในช่วงฤดูฝน จึงเตรียมมาตรการรณรงค์ให้ประชาชนร่วมกันกำจัดลูกน้ำยุงลายตั้งแต่ต้นปี พร้อมทั้งจัดระบบปฏิบัติการภาวะฉุกเฉิน เพื่อค้นหาผู้สัมผัสโรคทุกราย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง