ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ข่าวเด่น 2559 : รีวิวขนส่งระบบรางไทย ปีแห่งรถไฟฟ้าขัดข้อง-อุบัติเหตุทางลักผ่านรถไฟ

เศรษฐกิจ
28 ธ.ค. 59
21:42
799
Logo Thai PBS
ข่าวเด่น 2559 : รีวิวขนส่งระบบรางไทย ปีแห่งรถไฟฟ้าขัดข้อง-อุบัติเหตุทางลักผ่านรถไฟ
ตลอดปี 2559 ระบบรางไทยมีปัญหาบ่อยครั้ง ไม่ว่าจะบีทีเอส แอร์พอร์ตเรลลิงก์ขัดข้อง หรือตามจุดตัดทางลักผ่านทางรถไฟ แม้รัฐบาลให้ความสำคัญกับระบบราง เตรียมแผนการลงทุนไว้มหาศาล นี่จึงเป็นที่มาของการตั้งกรมขนส่งทางราง เพื่อยกระดับมาตรฐานระบบรางของไทย

ความโกลาหลของเหตุขัดข้องครั้งใหญ่ของรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ ในช่วงเช้าวันที่ 21 มีนาคม 2559 เมื่อระบบจ่ายไฟที่สถานีรามคำแหงมีปัญหา ส่งผลให้รถไฟฟ้าหนึ่งขบวนติดค้างระหว่างสถานีหัวหมากและสถานีรามคำแหง ผู้โดยสารกว่า 700 คน ติดอยู่ในขบวนรถ บางคนต้องตัดสินใจเปิดประตูฉุกเฉิน เนื่องจากมีผู้โดยสารเป็นลม และบางส่วนลงเดินบนรางเพื่อหาทางออก ถือเป็นวิกฤติการเดินทางในช่วงเวลาเร่งด่วนที่ใช้เวลาแก้ไขหลายชั่วโมง

นายสุเทพ พันธุ์เพ็ง รักษาการรองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท.จำกัด ระบุว่า หลังจากนี้แอร์พอร์ตเรลลิงก์มีแผนที่จะซ่อมบำรุงครั้งใหญ่ รวมถึงมีการจัดซื้อรถไฟฟ้าใหม่เพิ่มอีก 7 ขบวน เชื่อว่าจะทำให้ปัญหารถขัดข้องลดลง

"กรณีความขัดข้อง เราเสียในอัตราที่น้อยตามมาตรฐาน โดยปกติจะวัดที่ความล่าช้าของขบวนรถหรือความน่าเชื่อถือได้ เกณฑ์มาตรฐานล่าสุดแอร์พอร์ตเรลลิงก์อยู่ที่ระดับ 99.5 เปอร์เซ็นต์"

ขณะที่รถไฟฟ้าบีทีเอสผู้ให้บริการเจ้าแรกๆของประเทศ ปีนี้เกิดเหตุขัดข้องประมาณ 10 ครั้ง ครั้งใหญ่ที่สุด คือ วันที่ 24 เดือนกุมภาพันธ์ 2559 ตั้งแต่เวลา 05.00 น. บีทีเอสเกิดเหตุขัดข้องบริเวณจุดสับราง ช่วงรอยต่อระหว่างสายสีลมและสายสุขุมวิท ซึ่งเป็นสถานีเชื่อมต่อสำคัญใจกลางกรุง ส่งผลให้ผู้โดยสารตกค้างจำนวนมาก เพราะการแก้ไขปัญหาต้องตัดกระแสไฟฟ้าก่อนลงไปทำงาน กว่าจะกลับมาให้บริการอีกครั้งได้ในวันรุ่งขึ้น

ผู้บริหาร บีทีเอส ยืนยันแม้จะเกิดเหตุขัดข้องแต่ภาพรวมของการให้บริการบีทีเอสยังคงได้มาตรฐานตามที่ตั้งไว้

"บีทีเอสตั้งดัชนีไว้ว่าจะต้องทำได้ 95.5 เปอร์เซ็นต์ ที่จะสามารถส่งให้ผู้โดยสารเดินทางตรงเวลาตามที่ต้องการได้ภายใน 5 นาที" นายอาณัติ อาภาภิรม กรรมการ บมจ.บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ ให้ข้อมูล

สำหรับรถไฟฟ้าใต้ดินเอ็มอาร์ที แม้เกิดเหตุขัดข้องไม่บ่อยนัก แต่ครั้งที่ส่งผลกระทบต่อประชาชนมากที่สุด มีผู้โดยสารได้รับบาดเจ็บ 1 คน จากเหตุการณ์รถไฟฟ้าใต้ดินขัดข้องที่สถานีสุทธิสาร สาเหตุเกิดจากอุปกรณ์รับกระแสไฟฟ้าที่ขบวนรถไฟฟ้าเกิดการลัดวงจร

รถไฟฟ้าบีทีเอส รถไฟฟ้าใต้ดินเอ็มอาร์ที และแอร์พอร์ตเรลลิงก์ สาเหตุการเกิดเหตุขัดข้องส่วนมากเกิดจากระบบตัวรถ กระแสไฟฟ้า และระบบสับราง แต่รถไฟ ของการรถไฟแห่งประเทศไทยแม้จะมีความพยายามในการแก้ไขระบบอาณัติสัญญาณที่มีมากกว่า 500 จุดทั่วประเทศ แต่การรถไฟยังไม่สามารถแก้ปัญหาเรื่องทางลักผ่านที่มีอยู่หลายจุดทั่วประเทศ

ปัญหาของระบบรางไม่ได้กระจุกตัวอยู่เพียงในกรุงเทพมหานครเท่านั้น สำหรับการเดินรถไฟทั่วประเทศมีอุบัติเหตุตลอดทั้งปีที่เกิดจากการขับรถยนต์ข้ามผ่านทางลักผ่านหลายต่อหลายครั้ง แม้ที่ผ่านมาการรถไฟฯ จะขอความร่วมมือกับชาวบ้านในพื้นที่และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น แต่ก็ไม่ได้รับความร่วมมือ นอกจากนี้ยังมีปัจจัยจากผู้ขับขี่ที่ไม่คุ้นชินเส้นทางทำให้เกิดอุบัติเหตุ

นายวุฒิชาติ กัลยาณมิตร ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ทางลักผ่านจุดตัดรถไฟมีเพิ่มเติมขึ้นมาหลายจุด การรถไฟฯ ก็ได้พยายามติดตั้งป้ายแจ้งเตือน ขอความร่วมมือกับ อปท.ว่าความสะดวกสบายอาจนำมาซึ่งความไม่ปลอดภัย แต่ก็ไม่ใช่ว่าการรถไฟฯ จะไม่พิจารณาจุดนี้ แต่ขอให้หารือด้วยเหตุผลว่า หากพื้นที่ที่ทำเป็นทางลักผ่านแล้วเกิดอันตราย พอถึงเวลาเกิดเหตุขึ้นมาก็จะเกิดความสูญเสีย

ล่าสุด ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีได้อนุมัติตั้งกรมขนส่งทางราง พร้อมเห็นชอบกฎหมาย 2 ฉบับ โดยมุ่งแยกงานนโยบาย กำกับดูแล และยุทธศาสตร์การลงทุนพัฒนาระบบราง ออกจากการปฏิบัติการและการเดินรถ เพื่อสร้างมาตรฐานระบบรางของไทย พร้อมทั้งทุ่มงบประมาณจำนวนมากในการบริหารจัดการโครงข่ายการขนส่งทางรางของประเทศ เพื่อมาตรฐานความปลอดภัย มาตรฐานการซ่อมบำรุงทาง และมาตรฐานการประกอบการขนส่งทางราง ซึ่งคงต้องติดตามว่าจะมีผลในทางปฏิบัติเช่นไร

ข่าวที่เกี่ยวข้อง