แนวปะการังเกรทแบร์ริเออร์ รีฟ ในออสเตรเลีย ซึ่งได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก เมื่อปี 2524 เผชิญปรากฎการณ์ฟอกขาวครั้งเลวร้ายที่สุดในประวัติศาสตร์ เนื่องจากในช่วง 9 เดือนที่ผ่านมามีปะการังน้ำตื้นทางตอนเหนือตายไปกว่า 2 ใน 3 ของแนวปะการัง หรือ คิดเป็นระยะทางกว่า 700 กิโลเมตร ส่วนปะการังทางตอนกลางและตอนใต้ได้รับผลกระทบเพียงเล็กน้อยเท่านั้น
สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า วันนี้(29 พ.ย.2559) ศูนย์วิจัยปะการัง มหาวิทยาลัยเจมส์ คุก ของออสเตรเลีย ระบุว่า สาเหตุเกิดจากอุณหภูมิน้ำทะเลที่สูงขึ้นส่งผลให้สาหร่ายเซลล์เดียวที่อาศัยในเนื้อเยื่อปะการังสูญเสียไปด้วย ทำให้ปะการังอ่อนแอและตายในที่สุด โดยนักวิทยาศาสตร์ ประเมินว่า จะต้องใช้เวลาฟื้นฟูปะการัง 10 ถึง 15 ปี
ขณะที่รัฐบาลออสเตรเลียจะต้องส่งรายงานความคืบหน้าของโครงการฟื้นฟูแนวปะการัง
เกรท แบร์ริเออร์ รีฟ ต่อที่ประชุมองค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ ยูเนสโก ในวันที่ 1 ธันวาคมนี้ เพื่อพิจารณาว่าจะเพิ่มชื่อแนวปะการังให้เป็นมรดกโลกที่ตกอยู่ในภาวะอันตรายหรือไม่
ด้าน ผู้เชี่ยวชาญด้านปะการังของไทย ดร.ธรณ์ ธำรงค์นาวาสวัสดิ์ รองคณบดีคณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก โดยระบุว่าแนวปะการังในแหล่งท่องเที่ยวของไทยชื่อดังหลายแห่ง ที่เคยต้องประกาศงดกิจกรรมท่องเที่ยวดำน้ำ หลังจากน้ำทะเลมีอุณหภูมิสูงผิดปกติในช่วงเดือนพฤษภาคมปีนี้ ยังโชคดีที่มีการฟื้นตัวขึ้นมาแล้ว ต่างกับเกรท แบร์ริเออร์รีฟ ที่เผชิญภาวะปะการังฟอกขาวรุนแรงมากที่สุด