ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

กรมศิลป์ฯ เปิดแบบ "พระเมรุมาศ" ยึดสมัยกรุงรัตนโกสินทร์

สังคม
28 พ.ย. 59
14:01
5,833
Logo Thai PBS
กรมศิลป์ฯ เปิดแบบ "พระเมรุมาศ" ยึดสมัยกรุงรัตนโกสินทร์
กรมศิลปากรเปิดเผยแบบพระเมรุมาศ ทรงบุษบก 9 ยอด ศึกษาและออกแบบตามหลักโบราณราชประเพณีสมัยกรุงรัตนโกสินทร์อย่างสมพระเกียรติ คาดก่อสร้างแล้วเสร็จภายในเดือนกันยายนปีหน้า

วันนี้ (28 พ.ย.2559) นายอนันต์ ชูโชติ อธิบดีกรมศิลปากร แถลงภายหลังการประชุมคณะกรรมการฝ่ายจัดสร้างพระเมรุมาศ สิ่งปลูกสร้างประกอบพระเมรุมาศ และบูรณปฏิสังขรณ์ราชรถและพระยานมาศ งานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ว่า ที่ประชุมได้จัดเตรียมพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพอย่างสมพระเกียรติ

การออกแบบจัดสร้างพระเมรุมาศและสิ่งปลูกสร้างประกอบพระเมรุมาศ ใช้หลักคิด 3 ประการ คือ ออกแบบและจัดสร้างพระเมรุมาศอย่างสมพระเกียรติ ออกแบบตามหลักโบราณราชประเพณีการสร้างพระเมรุมาศของพระมหากษัตริย์ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ออกแบบโดยใช้แนวคิดคติไตรภูมิตามคัมภีร์พุทธศาสนาและคติความเชื่อเรื่องพระมหากษัตริย์ในสถานะเสมือนสมมติเทพตามระบบเทวนิยม

งานสถาปัตย์ แบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือกลุ่มอาคารในมณฑลพิธีท้องสนามหลวง ประกอบด้วยพระเมรุมาศเป็นประธานในมณฑลพิธี ออกแบบโดยยึดถือคติตามโบราณราชประเพณี รูปแบบเฉพาะสำหรับพระมหากษัตริย์ เป็นพระเมรุมาศทรงบุษบก สูง 50.49 เมตร มีชั้นเชิงกลอน 7 ชั้น ฐานสี่เหลี่ยมจตุรัสกว้างด้ายละ 60 เมตร บันไดฐานยกสูง 3 ชั้น ซึ่งมุมทั้งสี่ประกอบด้วยช่างทรงบุษบกชั้นเชิงกลอน 5 ชั้น สำหรับพระพิธีธรรมสวดพระอภิธรรมฐานชั้นที่ 2 ประกอบด้วยซุ้มทรงบุษบก รูปแบบเดียวกัน รวมสิ่งก่อสร้างมีเครื่องยอดรวม 9 ยอด โดยยอดกลางจะเปรียบเหมือนเป็นเขาพระสุเมรุ และอีก 8 ยอดเป็นเหมือนยอดเขาสัตตบริภัณฑ์ ซึ่งเปรียบเป็นระบบจักรวาล โดยเปรียบพระมหากษัตริย์เป็นเหมือนสมมติเทพ

ทั้งนี้ มีเสาโครงเป็นครุฑและสัตว์หิมพานต์ ซึ่งครุฑเป็นพาหนะของพระนารายณ์ มีความเชื่อตามสมมติเทพว่า พระมหากษัตริย์เป็นพระนารายณ์อวตารลงมา นอกจากนี้ยังมีพระที่นั่งทรงธรรม ซึ่งเป็นอาคารชั้นเดียวยกฐานสูง ขนาดกว้าง 44.50 เมตร ยาว 155 เมตร ซึ่งเป็นที่ประทับและบำเพ็ญพระราชกุศลในการพระราชพิธี รอบรับได้ประมาณ 2,800 ที่นั่ง ขณะเดียวกันยังมีศาลาลูกขุนใช้เป็นที่เฝ้าของข้าราชการ และทับเกษตรให้เป็นที่พักข้าราชการที่มาร่วมในพระราชพิธี และทิม สำหรับเจ้าพนักงาน พระสงฆ์ แพทย์ หลวงพัก รวมถึงจะมีการออกแบบกลุ่มอาคารนอกมณฑลพิธีและออกแบบภูมิทัศน์โดยรอบ มีการจำลองโครงการพระราชดำริ สร้างสระน้ำจำลองกังหันชัยพัฒนาและเครื่องดันน้ำ ซึ่งพื้นที่บริเวณพระราชพิธีจะสามารถรองรับผู้เข้าร่วมงานได้ 7,400 คน

ขณะที่การจัดสร้างพระโกศจันทน์ได้เสร็จแล้ว เหลือแต่การจัดสร้างพระโกศพระบรมอัฐิ 6 พระโกศ ประกอบด้วย พระโกศหลัก 1 พระโกศ พระโกศรอง 5 พระโกศ ขณะนี้อยู่ระหว่างการออกแบบ ส่วนการบูรณปฏิสังขรณ์ราชรถ ราชยาน และพระยานมาศ จะมีการบวงสรวงในวันที่ 19 ธ.ค.นี้ และตรอกหมุดกึ่งกลางพระเมรุมาศภายในเดือนธันวาคม โดยสามารถก่อสร้างภายในเดือนมกราคมและแล้วเสร็จภายในเดือนกันยายน 2560

สำหรับผู้ออกแบบพระเมรุมาศ ประกอบด้วย นายสัตวัน ฮ่มซ้าย ผู้อำนวยการสำนักสถาปัตยกรรม กรมศิลปากร นายก่อเกียรติ ทองผุด นายช่างศิลปกรรมชำนาญการ นายธีรชาติ วีรยุทธานนท์ สถาปนิกชำนาญการ

 

 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง