พระราชอิสริยยศของพระมหากษัตริย์ และพระบรมวงศานุวงศ์ชั้นสูง แสดงออกเด่นชัดในธรรมเนียมพระราชพิธีพระบรมศพ ที่ต้องมีเครื่องประกอบทั้งราชรถ ราชยาน คานหาม ไปจนถึงพระโกศ ซึ่งทั้งหมดล้วนถูกสร้างและใช้ในพระราชพิธีพระบรมศพมาตั้งแต่อดีต
หากในพระราชพิธีถวายพระเพลิงหรือพระราชทานเพลิงพระศพ ยังมีเครื่องประกอบที่สร้างขึ้นเป็นการเฉพาะในแต่ละครั้ง นั่นคือ “พระโกศจันทน์” มีหน้าที่เป็นฟืน หรือเชื้อเพลิงสำหรับเผาพระบรมศพ หรือพระศพ มีลักษณะเป็นโกศแปดเหลี่ยม ประกอบด้วยโครงลวดตาข่าย ประดับลายซ้อนไม้ทั้งองค์ สามารถถอดแยกได้
เมื่อจะทำการถวายพระเพลิง หรือพระราชทานเพลิง เจ้าพนักงานจะเปลื้องพระโกศทองออก เหลือแต่พระโกศลองใน แล้วนำพระโกศจันทน์เข้าประกอบพระโกศลองในซึ่งประดิษฐานบนพระจิตกาธาน เมื่อพระโกศจันทน์ ซึ่งเป็นพระโกศโครงตาข่าย มีลายเป็นชิ้นๆ ประดับแบบฉลุโปร่ง ติดไฟจะทำให้เพลิงลุกไหม้ได้โดยสะดวก และส่งกลิ่นหอม
“...แล้วจิงยกศพไปสงสการด้วยแก่นจันทน์กฤษณาทั้งห้าแล้วบูชาด้วยเข้าตอกดอกไม้ทั้งหลาย ครั้นว่าสงสการเสร็จแล้ว คนทั้งหลายจิงเก็บเอาธาตุพระญามหาจักรพรรดิราชนั้นไปประจุแลก่อพระเจดีย์...” บทพรรณาการจัดการพระศพพระยามหาจักรพรรดิราชในไตรภูมิพระร่วง แสดงถึงการใช้ไม้จันทน์ในการพระราชพิธีพระบรมศพที่มีมาอย่างน้อยตั้งแต่ครั้งสุโขทัย และมีบันทึกสืบเนื่องมาจนถึงสมัยกรุงศรีอยุธยา และรัตนโกสินทร์
เหตุผลสำคัญในการใช้ไม้จันทน์ไม่เพียงเพราะคุณสมบัติที่มีกลิ่นหอม และมีเนื้อไม้สีเหลืองสวยงาม แต่ยังสะท้อนคติความเชื่อในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ได้รับอิทธิพลพุทธศาสนา เพราะเป็นการถวายเกียรติอย่างยิ่งตามการถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระ ณ เมืองกุสินารา ซึ่งมีประวัติกล่าวว่าใช้ไม้จันทน์หอมเป็นเชื้อเพลิง