การประท้วงต่อต้านนายทรัมพ์เกิดขึ้นทันทีหลังจากที่เข้าชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ เมื่อวันที่ 8 พ.ย.2559 โดยเกิดขึ้นในหลายเมือง แต่การชุมนุมที่เมืองพอร์ทแลนด์นับว่ารุนแรงมากที่สุด เนื่องจากผู้ชุมนุมได้ทำลายทรัพย์สินและขว้างปาสิ่งของใส่เจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชน จนตำรวจต้องประกาศว่าเหตุการณ์ได้ลุกลามเป็นการจลาจล
การชุมนุมที่เมืองพอร์ทแลนด์ยืดเยื้อมาเป็นวันที่ 2 ซึ่งตำรวจได้ใช้กำลังเข้าสลายการชุมนุมเมื่อค่ำวานนี้ (11 พ.ย.) โดยยิงแก๊สน้ำตาและระเบิดแสง โดยอ้างว่าผู้ประท้วงได้ขว้างวัตถุติดไฟใส่ตำรวจ นอกจากนี้ผู้ประท้วงยังก่อเหตุปล้นสดมภ์และทำร้ายร่างกาย ทำให้ตำรวจต้องตอบโต้ มีรายงานว่าตำรวจควบคุมตัวผู้ประท้วงไปอย่างน้อย 26 คน
กระแสต่อต้านนายทรัมพ์รุนแรงมากขึ้นเมื่อเขาทวิตข้อความระบุว่าผู้ที่ต่อต้านเขานั้นเป็น "นักประท้วงอาชีพที่ถูกสื่อมวลชนยุยง" ซึ่งล่าสุดมีการประท้วงที่นิวยอร์ค, ลาสเวกัส รัฐเนวาดา, นครลอสแองเจลิส รัฐแคลิฟอร์เนีย, นครชิคาโก รัฐอิลลินอยส์ เป็นต้น
ที่นครนิวยอร์ค ผู้ประท้วงจากทั่วทุกมุมเมืองรวมถึงย่านไทมส์ สแควร์ เดินเท้าไปรวมตัวหน้าอาคาร "ทรัมพ์ ทาวเวอร์" พร้อมตะโกนข้อความต่อต้านนายทรัมพ์ ด้านหน้าอาคารมีการวางกำลังรักษาความปลอดภัยอย่างแน่นหนา
ชาวนิวยอร์คบางส่วนแสดงความไม่พอใจนายทรัมพ์โดยการเขียนข้อความบนกระดาษและนำไปติดไว้ตามกำแพง ซึ่งตอนนี้มีกระดาษมากกว่า 3,000 แผ่นที่ล้วนแต่มีข้อความแสดงความเศร้าและวิตกกังวลต่ออนาคต หลังจากที่ทรัมพ์ชนะการเลือกตั้ง แนวคิดในการแสดงความไม่พอใจเกิดจากศิลปินที่มีชื่อว่าแมทธิว ชาเวซ ที่ต้องการกระตุ้นให้ผู้คนแสดงความรู้สึกด้วยวิธีนี้ โดยเรียกว่า"การบำบัดในรถไฟใต้ดิน หรือ "Subway Therapy" คนที่นำกระดาษมาติดไว้ตามกำแพงบอกว่าวิธีนี้ทำให้พวกเขารู้ว่า คนอื่นๆ ก็มีความเศร้าและหวาดกลัวเหมือนกัน