ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ในหลวงรัชกาลที่ 9 กับการวางรากฐานงานเอกสารเก่า

สังคม
30 ต.ค. 59
14:10
1,423
Logo Thai PBS
ในหลวงรัชกาลที่ 9 กับการวางรากฐานงานเอกสารเก่า
นอกจากพระอัจฉริยภาพด้านวรรณกรรมในงานพระราชนิพนธ์ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ยังทรงวางรากฐานเรื่องงานเอกสารเก่า โดยทรงริเริ่มให้ตีพิมพ์เอกสารสำคัญทางประวัติศาสตร์หลายชิ้นขึ้นใหม่ ในรัชสมัยของพระองค์

พระราชพงศาวดารเล่าถึงพระราชพิธีโสกันต์ หรือ พิธีโกนจุกของเจ้านายคนสำคัญ ในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 หรือข่าวผู้ร้ายชิงทรัพย์ ที่คลองสีสะกระบือ ไปจนถึงโทรเลขจากแดนไกล เรื่องการใช้งบประมาณแผ่นดินของสหราชอาณาจักร คือคอลัมน์หลากหลายในหนังสือพิมพ์บางกอกรีคอร์เดอร์ของหมอบรัดเลย์ หนังสือพิมพ์รายสัปดาห์ฉบับแรกของไทย ในสมัยรัชกาลที่ 3 และพิมพ์ขายอีกครั้งในสมัยรัชกาลที่ 4 นับเป็นเอกสารชิ้นสำคัญทางประวัติศาสตร์

หากย้อนไปเมื่อกว่า 20 ปีก่อน ช่องทางสืบค้นมีเพียงต้นฉบับจากไมโครฟิล์มที่หอสมุดแห่งชาติ หากเมื่อพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้พิมพ์พระราชทานเมื่อปี 2536 เนื่องในงานพระราชทานเพลิงศพ นายสมหมาย ฮุนตระกูล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ทำให้เอกสารเก่าอายุกว่าร้อยปี ได้รับการเผยแพร่ในวงกว้าง ทั้งในแวดวงการศึกษาของไทย และมหาวิทยาลัยในต่างประเทศ นับเป็นคุณูปการต่อแวดวงประวัติศาสตร์ในเวลาต่อมา

 

 

นับจากปี 2536 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ยังพระราชทานให้ตีพิมพ์เอกสารเก่าเนื่องในงานศพของข้าราชบริพารและผู้ใกล้ชิดเรื่อยมา เช่น งานพระราชทานเพลิงศพ พลอากาศเอก สิทธิ เศวตศิลา อดีตองคมนตรี มีการตีพิมพ์หนังสือแสดงกิจจานุกิตย์ โดย ขำ บุนนาค ต้นฉบับตัวอักษรพิมพ์หิน หรือการตีพิมพ์แบบเรียนสมัยรัชกาลที่ 5 ซึ่งเคยพิมพ์ครั้งแรกในงานฉลองสิริราชสมบัติครบ 25 ปี เมื่อปี 2436 ในชื่อ "รชดาภิเษก" ในงานพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยานิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์

 

 

หนังสือจดหมายเหตุ บางกอกรีคอร์เดอร์ ที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 พระราชทานให้ตีพิมพ์ใหม่เมื่อปี 2536 เป็นแรงบันดาลใจให้นักสะสมหนังสือเก่าอย่าง ธงชัย ลิขิตพรสวรรค์ ก่อตั้งสำนักพิมพ์ต้นฉบับ ตีพิมพ์หนังสือเก่าตามแนวพระราชดำริ อย่างหนังสือชุด แม่ครัวหัวป่าก์ ตำราอาหารสมัย ที่ได้รับความนิยมไม่น้อย

อย่างไรก็ตาม การต่ออายุเอกสารเก่าของในหลวงรัชกาลที่ 9 สู่แรงบันดาลใจของนักประวัติศาสตร์รุ่นใหญ่ในการให้ความสำคัญกับการคัดสรรเนื้อหา ตีพิมพ์เผยแพร่เอกสารหายาก ที่ยังต้องอาศัยความร่วมมือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อทำให้บันทึกจากวันวานสร้างการเรียนรู้สู่ผู้คนในวงกว้าง

ข่าวที่เกี่ยวข้อง