ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

งดงามในความเศร้า สวม "ชุดไทยจิตรลดา" ถวายอาลัย "ในหลวง รัชกาลที่ 9"

ไลฟ์สไตล์
31 ต.ค. 59
17:00
10,539
Logo Thai PBS
งดงามในความเศร้า สวม "ชุดไทยจิตรลดา" ถวายอาลัย "ในหลวง รัชกาลที่ 9"
ภาพของสตรีสวมชุดไทยจิตรลดาเดินทางไปสักการะพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ที่พระบรมมหาราชวัง กลายเป็นภาพชินตา ชุดไทยจิตรลดามีความพิเศษตั้งแต่จุดกำเนิดจนถึงวาระโอกาสที่ใช้ นำความภาคภูมิใจมาสู่ผู้สวมใส่ทุกคน

แม้ว่าสำนักพระราชวังจะมีข้อกำหนด ให้สตรีที่จะเข้าถวายสักการะพระบรมศพแต่งกายสุภาพ สีดำ มีแขน ไม่รัดรูป กระโปรงยาวคลุมเข่า แต่หลายคนเลือกที่จะแต่งชุดไทยจิตรลดา บางคนสั่งตัดชุดนี้ขึ้นมาเป็นพิเศษสำหรับการนี้ ทั้งดารา นักแสดง ไปจนถึงผู้สื่อข่าวและผู้ประกาศข่าวหญิงที่สวมใส่ชุดไทยจิตรลดารายงานข่าว

กำเนิดชุดประจำชาติ "ไทยจิตรลดา" พระเมตตาจากองค์ราชินี

ปิยวรา ทีขะระ เนตรน้อย ผู้อำนวยการพิพิธภัณฑ์ผ้าในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในพระบรมมหาราชวัง ให้สัมภาษณ์ "ไทยพีบีเอสออนไลน์" ถึงที่มาและความสำคัญของชุดไทยจิตรลดาว่า ชุดไทยจิตรลดาถูกตัดเย็บขึ้นครั้งแรกเมื่อคราว สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ทรงตามเสด็จ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ประพาสต่างประเทศครั้งแรกในปี 2503

โดยระยะเวลา 1 ปี ก่อนเสด็จประพาส สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ ทรงตั้งคณะทำงานเกี่ยวกับชุดไทยขึ้นเพื่อหารือ เนื่องจากประเทศไทยไม่มีชุดประจำชาติที่เป็นแบบแผนแน่นอน และที่ผ่านมามักเปลี่ยนไปตามยุคสมัย คณะทำงานฯ ได้ออกแบบชุดไทยประจำชาติ 8 แบบ ได้แก่ 1.ไทยเรือนต้น 2.ไทยจิตรลดา 3.ไทยอัมรินทร์ 4.ไทยบรมพิมาน 5.ไทยจักรี 6.ไทยจักรพรรดิ 7.ไทยดุสิต 8.ไทยศิวาลัย และใช้สืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน

 

"ลักษณะของชุดไทยจิตรลดาเป็นเสื้อคอกลม ปกคอตั้ง แขนกระบอกยาวจรดข้อมือ ผ่าอก มีกระดุมหน้า มักตัดจากผ้าไหม ผ้ามัดหมี่ หรือผ้ายกดอก กระโปรงเป็นผ้าซิ่นหรือผ้าพื้น มีโครงยาวเดียวจรดข้อเท้า เป็นชุดที่นิยมสวมใส่ในงานพระราชพิธี โดยเฉพาะพระราชพิธีช่วงเย็นเพราะมีรูปแบบสุภาพเรียบร้อย ขณะที่ชุดอื่นๆ ถูกนำไปตัดใส่ในงานมงคล งานแต่งงาน จนถึงงานเข้ารับพระราชทาน งานรับเครื่องราชอิสสริยาภรณ์ จึงเป็นเรื่องที่น่ายินดีที่มีคนนำสิ่งที่ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ ทรงวางแบบแผนไว้มาสวมใส่อย่างแพร่หลาย" ผอ.พิพิธภัณฑ์ผ้าในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ กล่าว

ประชาชนทั่วไปสวมใส่ได้เพื่อไว้อาลัยและให้เกียรติ

ด้าน อนุชา ทีรคานนท์ ผู้อำนวยการสถาบันไทยคดีศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ให้ข้อมูลว่า ชุดไทยจิตรลดาคือหนึ่งในชุดไทยพระราชนิยมที่ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ทรงกำหนดการใช้ให้ใส่ในงานพระราชพิธีมานานหลายสิบปี ซึ่งงานสวดพระอภิธรรมพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช คืองานพระราชพิธี ดังนั้น ผู้ที่เข้าร่วมต้องแต่งกายอย่างสำรวมถูกแบบแผน

"ที่ต้องใส่ชุดไทยจิตรลดาในงานพระราชพิธี โดยเฉพาะการเข้าร่วมฟังสวดพระอภิธรรมพระบรมศพในช่วงเย็นนั้น เพราะชุดไทยจิตรลดามีความเหมาะสมที่สุด เนื่องจากหากเป็นชุดไทยเรือนต้นที่ลดระดับลงกว่านี้ไปขั้นหนึ่งนั้น ดูลำลองเกินไป และเหมาะกับงานตอนเช้ามากกว่า ส่วนถ้าเป็นชุดไทยอัมรินทร์ที่มีลักษณะคล้ายชุดไทยจิตรลดาทุกอย่างแต่สูงกว่าขั้นหนึ่ง เพราะตัวผ้าเป็นผ้ายกทองหรือยกเงินประกอบ จึงไม่เหมาะสมกับงานสวดพระอภิธรรมตอนกลางคืน" ผอ.สถาบันไทยคดีศึกษา ม.ธรรมศาสตร์ ระบุ  

อนุชา กล่าวต่ออีกว่า สำหรับประชาชนทั่วไป รวมทั้งดารานักแสดงที่ใส่ชุดไทยจิตรลดาเพื่อเข้าถวายสักการะพระบรมศพเบื้องหน้าพระบรมฉายาลักษณ์ในช่วงที่ผ่านมา และถวายสักการะเบื้องหน้าพระบรมโกศตั้งแต่วันที่ 29 ต.ค.เป็นต้นมา รวมถึงผู้สื่อข่าวหญิงที่แต่งตัวเพื่อรายงานข่าวนั้นสามารถทำได้เช่นกัน เพราะถือเป็นการถวายพระเกียรติแด่ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เนื่องจากเป็นชุดที่เรียบร้อย งดงาม และยังช่วยเผยแพร่เรื่องชุดไทยไปในตัว

เพราะสง่างามจึงเป็นที่นิยม

ปิยะฉัตร วัฒนพาณิชย์ เจ้าของร้านเช่าชุดสตรีเดซี่ อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี ให้สัมภาษณ์ "ไทยพีบีเอสออนไลน์" ว่า หลังการเสด็จสวรรคตของ ในหลวง รัชกาลที่ 9 ความต้องการเช่าชุดไทยจิตรลดาและชุดไทยบรมพิมานสีดำเพิ่มสูงขึ้นกว่าเท่าตัวจากช่วงก่อนหน้านี้ โดยชุดไทยจิตรลดาทุกขนาด ตั้งแต่ S ถึงใหญ่สุด 4XL ที่ทางร้านเตรียมไว้สำหรับเช่า 40 ชุด ลูกค้าซึ่งส่วนมากเป็นกลุ่มข้าราชการขอซื้อขาดเพื่อใช้ใส่ในงานดังกล่าว

“นอกจากลูกค้ากลุ่มข้าราชการที่ต้องซื้อหรือเช่าไว้สำหรับใส่ไปงาน กลุ่มวัยรุ่นยังเป็นลูกค้าอีกกลุ่มที่โทรเข้ามาขอเช่าชุดไทยจิตรลดา เนื่องจากเห็นดารานักแสดงใส่แล้วสวย" ปิยะฉัตร กล่าว พร้อมกับตั้งข้อสังเกตว่าด้วยความต้องการที่เพิ่มขึ้น ทำให้ร้านขายเสื้อผ้าทั่วไปที่ไม่ได้ขายหรือรับตัดชุดไทย เริ่มหันมารับพรีออเดอร์ชุดไทยจิตรลดาด้วย

ปิยะฉัตร อธิบายเพิ่มเติมว่า ชุดไทยจิตรลดาต้นตำรับนั้นตัดจากผ้าไหม แต่ชุดไทยจิตรลดาสำหรับเช่านั้น ส่วนมากใช้ผ้าไหมเทียมจากเส้นใยสังเคราะห์ หรือที่ในวงการเรียกกันว่า "ไหมอิตาลี" ซึ่งให้คุณภาพรองจากผ้าไหมแท้มาใช้ตัดเย็บทำให้ต้นทุนถูกลง จากราคาตัดเย็บไหมแท้อยู่ที่ 3,500-4,500 บาท เหลือเพียง 1,800 บาทต่อชุด ส่งผลให้ราคาเช่าอยู่ในระดับที่คนทั่วไปเข้าถึงได้ง่ายคือประมาณ 500-700 บาท 

"ที่น่าเป็นห่วงก็คือหลายร้านเริ่มแกะแบบชุดไทยจิตรลดา และส่งให้ช่างประเทศจีนตัดเย็บ เนื่องจากในไทยขาดแคลนทั้งวัตถุดิบและช่างตัด ซึ่งก็ไม่รู้ว่าชุดได้ออกมาจะเป็นอย่างไร ลักษณะผ้าแบบไหน" เจ้าของร้านเช่าชุดสตรีเดซี่ แสดงความกังวลเกี่ยวกับประเด็นดังกล่าว

ขณะที่ ปิยวรา ผอ.พิพิธภัณฑ์ผ้าในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ แสดงทัศนะว่า ชุดไทยจิตรลดาที่สวยงามอย่างที่เห็นในพิพิธภัณฑ์หรือในงานพระราชพิธี ล้วนตัดจากผ้าไหมหรือผ้ายกดอกที่ทออย่างประณีต ฝีมือช่างมีประสบการณ์ มากด้วยเทคนิคที่ตัดแล้วออกมาอย่างสวยงาม เช่น วางแบบผ้าหรือแพทเทิร์นแนวเฉียง เพื่อให้ชุดที่ตัดออกมายืดหยุ่นเคลื่อนไหวได้คล่องตัว หากไม่ใช่ผ้าไหมหรือช่างไม่มีประสบการณ์ด้านการตัดผ้าไทย ชุดไทยจิตรลดาที่ได้อาจออกมาไม่เหมือนแบบที่เห็น ไม่พอดีตัว ใส่แล้วไม่สง่า และของเดิมที่ดีที่มีอยู่อาจหายไป

ฐิวพร บัวทวี ช่างตัดเย็บร้านดรุณี กทม. เล่าประสบการณ์ในการตัดเย็บชุดไทยพระราชนิยม ว่า การตัดเย็บชุดไทยจากผ้าไหมนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย เนื่องจากผ้าไหมบางประเภทนั้นลื่นและตัดเย็บได้ยาก ช่างตัดเย็บต้อง "เข้าใจธรรมชาติของผ้า" มีความละเอียดลออ "อ่านลายผ้า" ก่อนทำการตัดเย็บ ซึ่งเป็นหนึ่งในเทคนิคที่ช่วยเพิ่มความคงทนให้กับชุด ฝีมือตัดเย็บต้องละเอียด มีหลายขั้นตอน การดูแลรักษาก็ยากกว่าผ้าธรรมดา ทำให้ราคาชุดไทยพระราชนิยมจากผ้าไหมมีราคาแพง

 

ส่วน สุกานดา สินขจิต ลูกสาวร้านตัดเย็บสุนีย์ เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย ย่านนางเลิ้ง ผู้คลุกคลีกับผ้าไหมมานานนับสิบปี ให้ความรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับผ้าไหมที่ควรนำมาใช้ตัดเย็บชุดไทยพระราชนิยมไว้ ว่า ผ้าไหมเป็นส่วนประกอบสำคัญที่ใช้ในการตัดเย็บชุดไทย ทั้งนี้ ผ้าที่นิยมนำมาตัดเย็บส่วนใหญ่จะเป็นผ้าไหมทอมือแบบ 2 เส้นและ 4 เส้น ในส่วนของผ้าไหมแบบ 2 เส้น โดดเด่นด้วยเนื้อผ้าที่มีความเรียบเนียน มันวาว จึงนิยมนำตัดเย็บชุดไทย ส่วนผ้าไหมผ้าไหมทอ 4 เส้น เนื้อผ้ามีความหนาคงทน แต่อาจไม่มันวาวเท่าผ้าไหมทอมือแบบ 2 เส้น และด้วยความประณีตในการทักทอ กว่าจะได้มาซึ่งผ้าไหมสักผืน ส่งผลให้ผ้าไหมมีราคาแพง แต่นั้นถือเป็นเอกลักษณ์และคุณค่าของผ้าของผ้าไหมไทย

ภูมิใจใส่ "ชุดไทยจิตรลดา" ถวายงาน "ในหลวง รัชกาลที่ 9" ครั้งสุดท้าย

ธนวรรณ มิลินทสูต ผู้ประกาศข่าว สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส เปิดเผยถึงความรู้สึกที่ได้ใส่ชุดไทยจิตรลดาในการปฏิบัติหน้าที่ว่า รู้สึกเป็นเกียรติและภูมิใจที่ได้ใส่ชุดนี้รายงานข่าว เพราะเป็นชุดที่สุภาพ มีความสง่า และยังเป็นการแสดงความอาลัย พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช อย่างสูงสุด

"ในชีวิตมีโอกาสใส่ชุดไทยน้อยมาก ในส่วนของชุดไทยจิตรลดานั้น ในชีวิตมีโอกาสใส่เพียงครั้ง 3 โดยครั้งแรกเป็นงานหมั้นของตัวเอง ครั้งที่ 2 เป็นงานพระราชพิธีพระบรมศพ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ และในพระราชพิธีพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เป็นครั้งที่ 3 แม้ชุดไทยจิตรลดาจะเป็นชุดที่ใส่แล้วพอดีตัว แต่หากได้ช่างตัดเย็บดี ใช้ผ้าดี ชุดจะมีความยืดหยุ่น และผ้าไหมยังปรับอุณภูมิให้ตามธรรมชาติ คือแม้จะออกภาคสนามก็ให้ความรู้สึกโปร่งสบาย แต่หากเข้ามาประกาศในสตูฯ ที่เป็นห้องแอร์ ก็จะอุ่นโดยอัตโนมัติ"

ธนวรรณ ยังกล่าวถึงบางแง่มุมที่เธอได้รับจากชุดไทยจิตรลดาไว้อย่างน่าสนใจด้วยว่า ด้วยความที่ชุดไทยจิตรลดาเป็นชุดพอดีตัวและกระโปรงที่ยาว ทำให้ต้องเปลี่ยนจากวิถีที่เร่งรีบมาเป็นเนิบช้า ได้ตริตรอง พิจารณาสิ่งรอบตัวทั้งการทำงานและการใช้ชีวิตประจำวันได้มากขึ้น

ยไมพร คงเรือง และ สิรินภา อิ่มศิริ ผู้สื่อข่าวไทยพีบีเอสออนไลน์ รายงาน 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง