สถานการณ์สุนัขป่วยด้วยโรคที่ต้องเปลี่ยนถ่ายเลือด เช่น ภาวะติดเชื้อ หรือโรคพยาธิในเม็ดเลือด รวมถึงการผ่าตัดและอุบัติเหตุที่โรงพยาบาลสัตว์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ หัวหิน ปีละประมาณ 350 ตัว แต่มีสุนัขที่ได้รับการเปลี่ยนถ่ายเลือดปีละประมาณ 100 ตัวเท่านั้น สะท้อนถึงปัญหาการขาดแคลนเลือดสุนัขเพื่อการรักษา
แต่ด้วยน้ำพระราชหฤทัยและพระเมตตาของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระราชประสงค์ให้จัดตั้งศูนย์รักษ์สุนัขหัวหิน เมื่อปี 2546 โดยได้พระราชทานเงินจากการจำหน่ายเสื้อพิมพ์ภาพถ่ายฝีพระหัตถ์ครอบครัวคุณทองแดง จำนวน 5 ล้านบาท แบ่งเป็นทุนในการก่อสร้างอาคาร 4 ล้านบาท ส่วนที่เหลืออีก 1 ล้านบาทเป็นทุนในการจัดตั้งมูลนิธิศูนย์รักษ์สุนัขหัวหินในพระบรมราชูปถัมภ์ โดยให้เทศบาลเมืองหัวหินดูแลสุนัขจรจัดอย่างเป็นระบบ ทั้งการให้อาหาร รักษาสุขภาพ ฉีดวัคซีน ถ่ายพยาธิ ทำหมันเพื่อควบคุมปริมาณและเลี้ยงสุนัขให้อยู่กับธรรมชาติ
ส่วนสุนัขที่แข็งแรงจะอยู่ในโซนสุนัขให้เลือด หรือธนาคารเลือด โดยทุกสัปดาห์ทีมสัตวแพทย์โรงพยาบาลสัตว์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ หัวหิน จะเข้าไปเจาะเลือดสุนัข หากสุนัขไม่ติดโรค ไม่เป็นพยาธิ เกล็ดเลือดไม่จาง สามารถให้เลือดเพื่อนำไปช่วยชีวิตสุนัขตัวอื่นๆต่อไป
ปัจจุบันมีสุนัขจรจัดที่อยู่ในการดูแลของศูนย์รักษ์สุนัขหัวหินเกือบ 1,000 ตัว ซึ่งช่วยแก้ปัญหาสุนัขจรจัดในเมืองท่องเที่ยวอย่างเป็นระบบ
การเสด็จพระราชดำเนินมาทอดพระเนตรการดำเนินงานที่ศูนย์แห่งนี้เมื่อปี 2557 ยังคงอยู่ในความทรงจำของเจ้าหน้าที่ ซึ่งต่างซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณ ความใส่พระราชหฤทัยและความมีพระเมตตาต่อสัตว์ ซึ่งเป็นแบบอย่างให้น้อมนำไปปฏิบัติเพื่อดูแลสุนัขเหล่านี้อย่างดีที่สุด
โครงการนี้เป็นต้นแบบการแก้ปัญหาสุนัขจรจัดอย่างเป็นระบบ ซึ่งปัจจุบันมีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหลายแห่งมาศึกษาดูงานเพื่อนำไปเป็นแบบอย่างการจัดการปัญหาในพื้นที่ ทั้งนี้จิตสำนึกในการดูแลสุนัขของผู้เลี้ยงไม่ทอดทิ้งให้เป็นภาระของผู้อื่น โดยนึกถึงประโยชน์ส่วนรวมมากกว่าประโยชน์ส่วนตน ตามพระราชดำรัสจึงเป็นสิ่งสำคัญ