แม้วัยจะล่วงเลยมาเกือบ 90 ปีแล้ว แต่ความทรงจำของนางออนจันทร์ รัตนโสภา ชาวชุมชนคลองเรียน อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา ยังคงจดจำได้ดี เมื่อครั้งที่ อ.หาดใหญ่ เกิดน้ำท่วมหนักในปี 2531 ทำให้เธอต้องขึ้นไปอาศัยบนหลังคาชั้นที่ 2 ของบ้านนานเกือบสับดาห์ แต่เมื่อพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชปกปักมาถึง หลังมีกระแสพระราชดำรัสให้แก้ปัญหาน้ำท่วมเมืองหาดใหญ่ ตามมาด้วยโครงการบรรเทาอุทกภัย อ.หาดใหญ่ ทำบ้านของนางออนจันทร์ไม่เคยถูกน้ำท่วมหนักอีกเลย
ไม่แตกต่างไปจากความรู้สึกของนายกิจจา มุสิกพันธ์ ชาวชุมชนหาดใหญ่ใน ทุกปีบ้านของเขาจะถูกน้ำท่วม เนื่องจากอยู่ใกล้กับคลองอู่ตะเภา ซึ่งเป็นคลองระบายน้ำสายหลักที่จะรองรับน้ำจากที่ต่างๆ และระบายลงสู่ทะเลสาบสงขลา ซึ่งเมื่อฝนตกหนักก็จะทำให้น้ำไหล่บ่าเข้าท่วมอย่างรวดเร็ว แต่ในปัจจุบันไม่ต้องกังวลอีกแล้ว หลังมีโครงการแก้ปัญหาน้ำท่วมตามแนวพระราชดำริ ทำให้ชาว อ.หาดใหญ่ ยกย่องว่าเมืองหาดใหญ่พ้นภัย ด้วยน้ำพระทัยจากในหลวง
ด้วยภูมิประเทศของ อ.หาดใหญ่ ซึ่งเป็นแอ่งกระทะ พื้นที่ลาดเทจากทิศใต้สู่ทิศเหนือ และมีลำคลองอู่ตะเภาเพียงสายเดียวในการระบายน้ำ จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดน้ำท่วมทุกปี โดยเฉพาะเหตุอุทกภัยครั้งใหญ่ เมื่อปี 2531 และปี 2543 ซึ่งก่อให้เกิดความเสียหายทั้งชีวิตและทรัพย์สินนับหมื่นล้านบาท
"การแก้ไขปัญหาและบรรเทาน้ำท่วมที่ควรพิจารณาดำเนินการ น่าจะได้แก่ การขุดคลองระบายน้ำขนาดใหญ่ ให้ทำหน้าที่แบ่งน้ำจากคลองอู่ตะเภา หรือช่วยรับน้ำที่ไหลลงมาท่วมตัว อ.หาดใหญ่ ให้ระบายลงสู่ทะเลสาบสงขลาโดยเร็ว ทั้งนี้ ให้พิจารณาร่วมกับระบบผังเมืองให้มีความสอดคล้อง และได้รับประโยชน์ร่วมกันด้วย"
เป็นกระแสพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ที่พระราชทานแนวทางแก้ไขและบรรเทาอุทกภัย ให้กรมชลประทานและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2531 ณ อาคารชัยพัฒนา สวนจิตรลดา เพื่อนำมาจัดทำแผนป้องกันอุทกภัยพื้นที่ อ.หาดใหญ่ อันเป็นที่มาของโครงการบรรเทาอุทกภัยตามแนวพระราชดำริ
โครงการบรรเทาอุทกภัยอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ประกอบด้วยการขุดลอกคลองธรรมชาติ และก่อสร้างคลองระบายน้ำใหม่เพื่อบริหารจัดการน้ำทั้งต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ โดยต้นน้ำ จะบริหารจัดการน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดกลาง และสร้างแก้มลิงเพื่อรองรับน้ำ ก่อนลงสู่คลองระบายน้ำ ด้านกลางน้ำ จะบริหารจัดการปริมาณน้ำในคลองอู่ตะเภา และคลอง ร.1 เพื่อผันน้ำอ้อมเมืองหาดใหญ่ออกสู่ทะเลสาบสงขลา ซึ่งสามารถป้องกันพื้นที่ชุมชนและพื้นที่ธุรกิจ โดยการสร้างคันกั้นน้ำรอบบริเวณ และติดตั้งระบบสูบน้ำ
ส่วนปลายน้ำ ได้ทำการขุดลอกคลองธรรมชาติสายหลักและสายรอง จำนวน 25 สาย เพื่อเร่งระบายน้ำลงทะเลสาบสงขลา รวมทั้งใช้ข้อมูลน้ำฝนในการบริหารจัดการน้ำ ซึ่งมีจุดเฝ้าระวัง เพื่อการแจ้งเตือนภัย 3 จุด รวมทั้งเตรียมความพร้อมของเครื่องจักรและจัดแบ่งกำลังคนตามภารกิจต่างๆ เพื่อป้องกันและแก้ปัญหาอุทกภัยที่อาจจะเกิดขึ้น
ปัจจุบัน โครงการบรรเทาอุทกภัย อ.หาดใหญ่ ตามแนวพระราชดำริสามารถช่วยบรรเทาปัญหาอุทกภัยของ อ.หาดใหญ่ และพื้นที่ใกล้เคียง แม้ว่าจะมีฝนตกหนักต่อเนื่อง แต่น้ำจะไหลลงออกสู่ทะเลสาบสงขลาได้ภายในเวลาไม่กี่ชั่วโมง ทำให้ชาว อ.หาดใหญ่ รอดพ้นจากภัยน้ำท่วมมาหลายครั้ง จึงเป็นพระมหากรุณาธิคุณต่อชาว อ.หาดใหญ่ อย่างหาที่สุดไม่ได้