ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

พระมหากษัตริย์นักพัฒนา ชุบชีวิตนาข้าวตากใบด้วย "ทฤษฎีแกล้งดิน"

สิ่งแวดล้อม
24 ต.ค. 59
14:51
917
Logo Thai PBS
พระมหากษัตริย์นักพัฒนา ชุบชีวิตนาข้าวตากใบด้วย "ทฤษฎีแกล้งดิน"
เมื่อหลายปีก่อนชาวนาบ้านโคกอิฐ-โคกใน อ.ตากใบ จ.นราธิวาส ประสบปัญหาที่ดินเป็นดินเปรี้ยว แต่เมื่อพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เสด็จฯ เยี่ยมราษฎรพื้นที่บ้านโคกอิฐ-โคกใน ได้มีพระราชดำริ ให้แก้ปัญหาดินเปรี้ยวด้วย "ทฤษฎีแกล้งดิน"

หากพระเจ้าอยู่หัวไม่ได้เสด็จพระราชดำเนินมาเมื่อวันที่ 9 ต.ค.2535 ชาวนาบ้านโคกอิฐ-โคกใน ต.พร่อน อ.ตากใบ จ.นราธิวาส คงไม่มีข้าวขายและกินอย่างสมบูรณ์อย่างทุกวันนี้

ทุกครั้งก่อนลงมือปลูกข้าว พวกเขาจะปรับสภาพผืนนาข้าวเพื่อเตรียมทำนาด้วย "ทฤษฎีแกล้งดิน" ตามพระราชดำริ ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ซึ่งมีพระราชกระแสรับสั่งให้ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทอง ทำการทดสอบการปลูกข้าวในพื้นที่ 500 ไร่ โดยใช้หินปูนฝุ่นและปุ๋ยพืชสด ปรับปรุงดิน ทดลองแก้ปัญหาดินเปรี้ยว จนประสบผลสำเร็จ ทำให้ปัจจุบันบ้านโคกอิฐ-โคกใน สามารถขยายพื้นที่ปลูกข้าวได้เกือบ 2,000ไร่

"จากพระราชกระแสรับสั่งของพระองค์ เจ้าหน้าที่ได้เข้ามาดำเนินการแก้ปัญหาดินเปรี้ยวตรงนี้ ทางศูนย์พิกุลทองก็ได้ให้หินปูนฝุ่น ปูนขาวมาใส่ในที่นาตรงนี้ จากเมื่อก่อนที่ทำนาไม่ได้ผลก็เริ่มดีขึ้น" จันทร์ ชาญแท้ เกษตรกรบ้านโคกอิฐ-โคกใน อ.ตากใบ จ.นราธิวาส พูดถึงในหลวงมีดำริให้แก้ปัญหาดินเปรี้ยวกล่าว

นายกลม เทพพรหม เกษตรกรบ้านโคกอิฐ-โคกใน เล่าว่า ก่อนหน้านี้เกษตรกรบ้านโคกอิฐ-โคกใน จะปลูกข้าวพันธุ์หอมกระดังงาในดินเปรี้ยว ซึ่งให้ผลผลิตข้าวเพียง 50-100 กิโลกรัมต่อไร่ แต่หลังจากนำทฤษฎีแก้ปัญหาดินเปรี้ยวตามแนวพระราชดำริมาปรับใช้ ก็ทำให้ชาวนาสามารถปลูกข้าวได้ 470-500 กิโลกรัมต่อไร่ หลายครอบครัวจึงมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น

"รู้สึกว่าดินมันดีขึ้น ชาวบ้านก็ได้ทำนากันทั่ว เมื่อก่อนนี้บริเวณนี้ทำนากันแค่ 2-3 แปลงเอง ปลูกข้าวแล้วก็ไม่ค่อยได้กินด้วย แต่ก็จำเป็นต้องทำ" นายกลมกล่าว

พระมหากรุณาธิคุณที่มีต่อชาวนาในพื้นที่ ยังนำมาซึ่งการก่อตั้งโรงสีข้าวพระราชทาน หรือ "โรงสีข้าวพิกุลทอง" โดยพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระราชดำริให้โรงสีข้าวแห่งนี้ มีการดำเนินงานในลักษณะของธนาคารข้าว เป็นสถานที่รับฝากข้าวเปลือกจากเกษตรกรที่ปลูกข้าว และรับจ้างสีข้าว ขณะเดียวกันก็ทำหน้าที่ศึกษาค้นคว้าเกี่ยวกับการเพาะปลูกข้าว เก็บเกี่ยวข้าวและการสีข้าว เพื่อคงไว้ซึ่งคุณภาพของข้าวสาร โดยให้ชาวบ้านรวมกลุ่มใช้บริการในรูปแบบสหกรณ์เพื่อให้สามารถการช่วยเหลือชาวนาครบวงจร

ข่าวที่เกี่ยวข้อง