ศิลาฤกษ์หน้าอาคารสถาบันราชประชาสมาสัย แสดงให้เห็นถึงพระอัจฉริยภาพ และพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระปรมินทร มหาภูมิพลอดุลยเดช พระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์จำนวน 1,236,600 บาท เพื่อก่อสร้างอาคาร เมื่อวันที่ 16 มกราคม ปี 2501 เนื่องจากโรคเรื้อนระบาดหนักพบผู้ป่วยกว่า 140,000 คน กระจายอยู่ทั่วประเทศและยังเป็นโรคที่สังคมในขณะนั้นรังเกียจ
เนื่องจากพระองค์ทรงสนพระราชหฤทัยที่จะแก้ปัญหาโรคเรื้อนให้หมดไป ประกอบกับพระวิสัยทัศน์อันกว้างไกล จึงสนับสนุนให้สถาบันราชประชาสมาสัย ศึกษาวิจัยเกี่ยวกับโรคเรื้อนเพื่อหาทางรักษาและควบคุมไม่ให้โรคนี้แพร่กระจาย
กระทั่งปี 2537 ประเทศไทยสามารถความคุมโรคเรื้อนสำเร็จเป็นประเทศแรกของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยลดอัตราความชุกของโรคให้เหลือต่ำกว่า 1 คน ต่อประชากร 10,000 คน จากเดิมที่พบผู้ป่วย 50 คนต่อประชากร 10,000 คน ตั้งแต่ปี 2496 ซึ่งสำเร็จก่อนเป้าหมาย ตามที่องค์การอนามัยโลกกำหนดไว้ในปี 2543
ขณะที่ปัญหาบุตรหลานของผู้ป่วยโรคเรื้อนที่แม้ว่าจะไม่ได้รับเชื้อ แต่พบว่าไม่มีสถาบันการศึกษาใดรับเข้าศึกษาเล่าเรียน พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช จึงตรัสว่า "เด็กเหล่านี้ ต้องมีที่เรียน" และพระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์จำนวน 1 ล้านบาท ในปี 2505 เพื่อก่อสร้างโรงเรียนราชประชาสมาสัย และให้รับลูกของผู้ป่วยโรคเรื้อนรุ่นแรกจำนวน 40 คน เข้าเป็นนักเรียนประจำในพระบรมราชานุเคราะห์ ซึ่งต่อมาได้เปิดโอกาสให้รับเด็กทั่วไปเข้ามาศึกษาร่วมกัน ทำให้สังคมเกิดความเข้าใจว่าโรคเรื้อนไม่ใช่โรคที่ติดต่อกันได้ง่าย และเด็กที่เกิดจากผู้ป่วยไม่ได้ติดเชื้อมาด้วย
สถาบันราชประชาสมาสัยยังคงให้บริการดูแลประชาชนตลอดมา แม้โรคเรื้อนจะไม่ได้เป็นปัญหาด้านสาธารณสุขแล้ว ส่วนโรงเรียนเองก็รับนักเรียนเข้าศึกษาเพิ่มขึ้น ทำให้ปัจจุบันมีจำนวนถึง 1,605 คน โดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย สร้างความปลื้มปิติให้กับพสกนิกรอย่างหาที่สุดมิได้ เป็นไปตามนามประราชทานคำว่า ราชประชาสมาสัย ที่มีความหมายว่า พระราชากับประชาชน ย่อมพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน