ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

อดีตแพลนเนอร์มือฉมัง แนะวิธีจัดงานแต่งให้เหมาะสมกับสถานการณ์ไว้อาลัย “ในหลวง ร.9”

ไลฟ์สไตล์
20 ต.ค. 59
18:31
4,284
Logo Thai PBS
อดีตแพลนเนอร์มือฉมัง แนะวิธีจัดงานแต่งให้เหมาะสมกับสถานการณ์ไว้อาลัย “ในหลวง ร.9”
เจ้าของเว็บไซต์เกี่ยวกับงานแต่งงาน ในฐานะอดีตแพลนเนอร์งานแต่งมือฉมัง รวบรวมข้อแนะนำสำหรับการจัดพิธีมงคลสมรสอย่างเหมาะสม ที่ไม่สามารถเลื่อนจากช่วงเวลาไว้อาลัย พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เสด็จสวรรคตได้

จากกรณี คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) แถลงผ่านโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจ ขอความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งองค์กรภาครัฐ ภาคเอกชน รวมถึงประชาชน พิจารณางดจัดงานรื่นเริงต่าง ๆ เป็นเวลา 30 วัน เพื่อไว้อาลัยแด่ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เสด็จสวรรคต วันที่ 13 ต.ค. 2559 ที่ผ่านมา

วันนี้ (20 ต.ค. 2559) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นางดวงฤทัย พยารักษ์ เจ้าของเว็บไซต์และเพจเฟซบุ๊ก สบายเวดดิ้ง (Sabuywedding) อดีตแพลนเนอร์งานแต่งงานระดับพรีเมียม ได้โพสต์แนะนำวิธีการจัดงานมงคงสมรสที่เหมาะกับสถานการณ์แก่ว่าที่เจ้าบ่าวและเจ้าสาว ในกรณีที่ไม่สามารถเลื่อนวันจัดงานออกไปจากช่วงเวลานี้ได้

โดยข้อแนะนำดังกล่าว อ้างอิงจากหนังสือขอความร่วมมือของสถานีตำรวจ และข้อปฏิบัติของทางโรงแรมระดับ 5 ดาว ที่เคยจัดงานในช่วงงานพระศพ และพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ รวมถึงประสบการณ์จากแพลนเนอร์งานแต่งงานอาวุโส ที่เคยจัดงานในช่วงบ้านเมืองมีเหตุการณ์ ซึ่งทั้งหมดทางเฟซบุ๊กได้รวบรวมข้อปฏิบัติไว้ดังนี้

สำหรับพิธีหมั้น

1.ควรงดกลองยาวและงดโห่ขันหมาก
2.การกั้นประตูขอให้ทำพอเป็นพิธี หลีกเลี่ยงการละเล่นต่างๆ ที่ไม่เหมาะสม
3. ส่วนของการถ่ายภาพในพิธีการ ว่าที่เจ้าบ่าว เจ้าสาว ญาติ และผู้มาร่วมงานสามารถยิ้มได้ แต่ไม่ควรโพสต์ลงในโซเชียลช่วงเวลานี้

สำหรับงานเลี้ยง

1.ควรปรับพิธีการให้เรียบง่าย เปลี่ยนเป็นการจัดเลี้ยงเพื่อแสดงความขอบคุณ
2.การถ่ายภาพหน้างาน ว่าที่เจ้าบ่าว เจ้าสาว ญาติ และผู้มาร่วมงานยังสามารถยิ้มได้ แต่ท่าทางอื่น ๆ ควรเป็นไปอย่างสำรวม (ไม่ควรมีท่ากดไลค์หรือทำมือรูปหัวใจ)
3.เปิดเพลงภายในงานได้ เพื่อไม่ให้บรรยากาศเงียบเกินไป
4.ส่วนเพลงเปิดตัวและตัดเค้ก เจ้าภาพควรพิจารณาตามความเหมาะสม
5.ประธานขึ้นกล่าวคำอวยพรได้ แต่ควรงดการดื่มอวยพรและงดการไชโย
6.ช่วงตัดเค้กขอให้งดจุดเทียน คงไว้เพียงการตัดเค้กเท่านั้น
7.ไม่ควรโยนดอกไม้เจ้าสาว

นอกจากนี้แขกที่มาร่วมงานควรแต่งกายโทนสีสุภาพ เช่น สีครีม สีเทา หรือถ้าแต่งตัวตามธีมที่วางไว้ขอให้ผู้ที่มาร่วมงานนำชุดสีสุภาพมาเปลี่ยนหลังเลิกงาน ที่สำคัญคือว่าที่เจ้าบ่าวและเจ้าสาว ต้องโทรหรือแจ้งผ่านข้อความ เพื่อยืนยันกำหนดการจัดงานกับแขกที่เชิญอีกครั้ง

นางดวงฤทัย กล่าวต่ออีกว่า การเตรียมงานแต่งเป็นสิ่งที่มีความเครียดและมีค่าใช้จ่ายจำนวนมาก อย่างน้อยค่ามัดจำอาหาร ค่าจิปาถะอื่น ๆ ก็ร่วมแสนบาท หรือบางรายเกือบ 2 แสนบาทด้วยซ้ำ อีกทั้งยังมีความเชื่อเรื่องฤกษ์ยามในการครองคู่ ฉะนั้น การยกเลิกจึงเป็นเรื่องไม่ง่าย และการเลื่อนวันจัดงานอาจไปกระทบกับการจัดของคู่อื่น ๆ ขณะที่สถานที่จัดงานแต่งงานส่วนใหญ่จะเต็มในช่วงปลายปี จริง ๆ แล้วเรื่องนี้มีทางออก เพียงแค่จัดงานอย่างไรให้เหมาะสมกับสถานการณ์เท่านั้น

“เท่าที่ทราบ ณ ตอนนี้ จำนวนคู่บ่าวสาวที่ยกเลิกงานมีเพียงร้อยละ 10 และส่วนมากเป็นการยกเลิกพวกอาฟเตอร์ปาร์ตี้ที่เน้นความรื่นเริง แต่จากการพูดคุยของผู้ที่กำลังจะแต่งงาน พบว่าในส่วนของญาติผู้ใหญ่มีความเซนซิทีฟต่อสถานการณ์บ้านเมือง ทำให้ว่าที่คู่บ่าวสาวพยายามสอบถามถึงวิธีการจัดงานที่เหมาะสม เราจึงจัดทำข้อควรปฏิบัตินี้ขึ้นมา ก็หวังว่าจะเป็นทางออกในเรื่องนี้ได้ไม่มากก็น้อย” เจ้าของเว็บไซต์และเพจเฟซบุ๊ก สบายเวดดิ้ง ระบุ

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง